รวมโครงการจัดการโควิด – 19

แม้อีกไม่นานโควิด – 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ถ้าหากเรามองย้อนกลับ เราจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด – 19 นั้นส่งผลกระทบกับทุกคน นอกเหนือจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในสังคมเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเกิดปัญหาเราต้องรู้จักวางแผนและหาวิธีรับมือ เพราะถ้าหากมีโรคระบาดในอนาคตเกิดขึ้นอีก เราก็จะสามารถที่จะนำรูปแบบการจัดการปัญหาต่างๆ ของโควิด – 19 ไปปรับใช้ได้ #แนวคิดพลิกชุมชน วันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโครงการจัดการโควิด – 19 ฉบับภาคีเครือข่ายพร้อมๆ กันเลย

เริ่มต้นกันที่แนวคิดแรกจากคุณปริวัตร กิจนิตย์ชีว์ หัวหน้าโครงการพลังพลเมืองเด็กสร้างสุขกิจกรรมสร้างสรรค์ (หนุก – คิดส์) Young Citizen Active Play กลุ่มละครมาหยา กับโครงการ ‘เปิดพื้นที่ความสุขด้วยการแบ่งปัน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของโควิด – 19 คุณปริวัตรเล่าว่า ‘ปัญหาหลักๆ ของคนในชุมชน คือเมื่อเกิดโควิด – 19 ขึ้นส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่กลับขาดรายได้บางส่วนไป จึงทำให้หลายครอบครัวเกิดความเครียดสะสม ดังนั้นจึงมีแนวคิดการแก้ปัญหาขึ้น นั่นคือการลงพื้นที่รวมพลังพี่ๆ น้องๆ จิตอาสาจัดทำกิจกรรมตู้กับข้าว โดยนำสิ่งของและข้าวปลาอาหารไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนที่เดือดร้อน เท่านั้นยังไม่พอยังมีการเปิดพื้นที่ฝากร้านขายของออนไลน์ ใน เพจ Facebook ‘สโมสรลูกปูดำ’ เพื่อขายสินค้าประเภทงานประดิษฐ์ งานฝีมือ งานชุมชน หรือแม้กระทั่งสินค้ามือสองเพื่อหารายได้เพิ่มเติมอีกด้วย

และอีกหนึ่งแนวคิดจากคุณธนภัทร แสงหิรัญ หัวหน้าโครงการฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่ที่บ้านเรา กับโครงการ ‘ชุมชนเยาวชนสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมสู่การเปลี่ยนแปลง’ ได้เล่าว่า ตอนนี้ในชุมชนเรากำลังร่วมกันสื่อสารเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ให้ได้เข้าใจถึงการมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม และเห็นคุณค่าในตนเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่นในชุมชน ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมีมากกว่าการพ่นยาฆ่าเชื้อโรค การทำสบู่ หรือสอนการล้างมือ แต่เรากำลังสอนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เรียนรู้การทำกิจกรรมเพื่อชุมชน รวมไปถึงการที่เราสร้างพื้นที่สร้างสรรค์และมีส่วนร่วมให้กับเด็กและเยาวชน ให้ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในความรักและเป็นเจ้าของชุมชน ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้กับเด็กและเยาวชนในการเป็นพลเมืองที่มีคุณค่า รับผิดชอบต่อสังคม และสุดท้ายเรากำลังสร้างการเติบโตทางแนวคิดให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง โดยใช้สถานการณ์ของโควิด – 19 เป็นโอกาสในการปลูกฝังจิตสาธารณะและสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเด็กๆ นั่นเอง’

ซึ่งถึงแม้ทั้ง 2 โครงการจะมีปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วแนวคิดพลิกชุมชนจากทั้ง 2 โครงการนั้นล้วนแต่เป็นแนวทางการจัดการปัญหาที่ดีเยี่ยมมากๆ หากเกิดปัญหาในรูปแบบนี้อีกครั้งเชื่อว่า สภาผู้นำและชาวบ้านของทั้ง 2 ชุมชนจะสามารถปรับตัวและผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้แน่นอน ถ้าหากชุมชนใดที่กำลังรู้สึกหมดไฟ หมดไอเดียหรือแรงบันดาลใจ สามารถเข้ามาติดตามข้อมูลดีๆ จากสำนักสร้างสรรค์โอกาสกันได้ตลอดเลยนะคะ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ