รู้เร็ว รู้ไว จัดการภัยพิบัติ บ้านปลายทับใหม่
สรุปสาระสำคัญ
โครงการได้พัฒนาความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติจากผู้เชี่ยวชาญมาใช้ประโยชน์ใน 2 ส่วนคือ 1) การรวมคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้งกลุ่มแกนนำที่พัฒนาการทำงานจากกรรมการหมู่บ้านไปสู่การทำงานสภาผู้นำฯ ที่ดึงทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม และการพัฒนากลุ่มเยาวชนเข้ามามีบทบาททำงานกับชุมชนผ่านการสร้างความรู้ในเรื่องภัยพิบัติ 2) ขยายกระบวนการพัฒนาคนทำงานจากชุมชนไปสู่ระดับตำบล โดยมีการขยายทั้งเรื่องการทำงานแบบสภาผู้นำชุมชนไปสู่สภาผู้นำตำบล และการจัดการภัยพิบัติในระดับตำบล
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. มีทุนเดิมดี ที่คณะทำงานสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดในโครงการนี้ได้
2. แสดงข้อมูลสถานการณ์ชุมชนให้เห็นด้วยโปรแกรม GIS
3. ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ จากโปรแกรม GIS ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากการสำรวจโดยชุมชน
4. ทำให้เห็นประโยชน์ และความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ด้วยการพัฒนากลไกดูแลภารกิจต่อ เชื่อมต่อหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนและขยายผลกิจกรรมที่เริ่มไว้
5. สภาผู้นำชุมชนใหม่ ต้องหาวิธีใช้ประโยชน์จากทุนเดิมให้มาก โดยไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนที่เคยเป็น ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน รูปแบบ ช่องทางและวิธีการสื่อสารกับชุมชน กลุ่ม-กองทุนต่างๆ ที่ชุมชนมี
6. ความต่อเนื่อง ยั่งยืนของการทำงานสร้างขึ้นได้ ด้วยทำให้ผู้คนและหน่วยงานเห็น “จุดเข้าร่วมงาน” จนเกิดการพัฒนาการงานต่อยอดและต่อเนื่องร่วมกัน ซึ่งทั้งการขยายผลการปลูกป่าเพื่อเติมทรัพยากรชุมชนที่เสียหาย ไปสู่การออกแบบการจัดการป่าที่ให้ประโยชน์กับคนในชุมชนมากขึ้น การขยายการใช้ประโยชน์จากโปรแกรม GIS ในงานจัดการภัยพิบัติชุมชน ไปสู่ GIS เพื่อการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออกกับ รพ.สต. การขยายกองทุนสวัสดิการภัยพิบัติชุมชนเป็นกองทุนระดับตำบล ร่วมกับผู้นำชุมชนอื่นและ อบต. ได้ชี้ให้เห็นเรื่องนี้ชัดเจน
7. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสร้างระบบข้อมูลชุมชนสามารถแสดงผล/ข้อค้นพบได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เห็นสถานการณ์ที่ชัดเจน กำหนดเป้าหมายการจัดการ วิธีการพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้เหมาะสม ที่ได้รับการยอมรับและความร่วมมือในการทำกิจกรรมจากทั้งในชุมชนและหน่วยงานภายนอก ทั้งนำไปสู่การพัฒนาชุมชนในเรื่องใหม่ๆ ร่วมกันได้มาก