ร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ หมู่บ้านเขาดินวนา ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ

สรุปสาระสำคัญ

โครงการนี้มีเป้าหมายต้องการให้แต่ละครัวเรือนในชุมชนมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปบริจาคให้ธนาคารขยะ มีการจัดการบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบ ปลอดแหล่งเพาะเชื้อโรค โดยจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนขึ้นมาเป็นกลไกทำงานคือให้สภาผู้นำชุมชน 1 คนดูแล 3 ครัวเรือน คอยให้คำแนะนำเรื่องการจัดการขยะ การจัดการบ้านเรือน และติดตามผล โดยมีการกำหนดกติกาชุมชนน่าอยู่ 5 ข้อเป็นแนวทางปฏิบัติ และสภาผู้นำชุมชนต้องทำเป็นแบบอย่าง เน้นการจัดกิจกรรมรณรงค์ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น ทำความสะอาดครัวเรือน/หมู่บ้านทุกวันอาทิตย์ที่มีการบริจาคขยะ  รณรงค์ใช้ตะกร้าแทนถุงพลาสติกเพื่อลดขยะ  รณรงค์เลิกวางถังขยะไว้หน้าบ้านแต่ให้วางไว้หลังบ้านแทนเพื่อป้องกันไม่ให้คนมาทิ้ง และแกนนำโครงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หลากหลายช่องทาง ผลที่ได้พบว่า มีชาวบ้านประมาณ 50 ครัวเรือนรวมถึงสภาผู้นำชุมชน สามารถปฏิบัติตามกติกาชุมชนน่าอยู่ ได้แก่ มีการปลูกผักปลอดสารผิดไว้บริโภคในครัวเรือนอย่างน้อย 5 ชนิดขึ้นไป มีการคัดแยกขยะและดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม  เป็นครัวเรือนลด ละ ปลอดเหล้า และไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทให้เกิดความรำคาญ ไม่มีลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้าน เข้าร่วมประชุม ร่วมกิจกรรมและพัฒนาของหมู่บ้านทุกครั้ง ส่วนครัวเรือนอื่นๆ ให้ความร่วมมือนำขยะมาบริจาคแต่ไม่มีเวลาจัดการบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อยเพราะต้องไปทำงานนอกพื้นที่ และผลจากความร่วมมือของชาวบ้านทำให้สภาพภูมิทัศน์ในหมู่บ้านมีความสะอาด ไม่มีขยะถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามถนน แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรคต่างๆ ลดน้อยลง

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1.   วัตถุประสงค์และข้อบังคับธนาคารขยะ  ธนาคารเป็นเครื่องมือส่งเสริมพฤติกรรมจัดการขยะ ต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงจะสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้มาก เช่น ธนาคารขยะเพื่อสวัสดิการของที่นี่ ที่ไม่เพียงดึงดูดให้คนในชุมชนทั้งฐานะไม่ดี ที่ต้องการสวัสดิการ และคนที่มีฐานะดี ที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ร่วมดำเนินการได้หมด ยังใช้เป็นเงื่อนไขในการขอความร่วมมือจากหน่วยงานได้ด้วย เช่น การรับบริจาคขยะจากหน่วยงาน หรืองานเลี้ยงต่างๆ  และการมีเงื่อนไขให้ทำต่อเนื่องจึงได้รับสวัสดิการ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่นิสัย/พฤติกรรมชุมชนได้

2.   ความสะดวกในการดำเนินการของครัวเรือน เป็นเงื่อนไขสนับสนุนให้ทำพฤติกรรมคัดแยกขยะต่อเนื่องได้ เช่น ที่โครงการนี้ ได้กำหนดให้มีวันทำความสะอาดครัวเรือนและชุมชน ในวันเดียวกับวันรับซื้อ/บริจาคขยะชุมชน ทำให้ครัวเรือนที่จัดการขยะเสร็จแล้ว สามารถนำขยะมาขาย/บริจาคได้เลย โดยไม่ต้องเก็บขยะที่จะขาย/บริจาคไว้ให้เป็นภาระต้องหาที่เก็บ สร้างความสะดวกที่จะเข้าร่วม และการกำหนดเป็นวันอาทิตย์ หรือให้เด็กเอามาให้ได้ ก็สร้างความสะดวกในการเข้าร่วมให้ครัวเรือนมากขึ้น เพราะเป็นวันหยุด และเป็นใครในครัวเรือนก็ได้ที่นำขยะมาขาย/บริจาคธนาคาร

3.   การสนับสนุนของพี่เลี้ยง ที่ช่วยตั้งแต่การพัฒนา-ออกแบบการดำเนินงานโครงการ การให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาพวก-ฝ่ายในชุมชน รวมถึงเป็นวิทยากรให้ความรู้ในกิจกรรมต่างๆ และการติดตามสนับสนุนต่อเนื่อง ทำให้แกนนำโครงการเกิดความมั่นใจที่จะทำงานให้สำเร็จ มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ และทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ