ร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ หมู่บ้านหนองผือ ตำบลสะอาดสมบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

สรุปสาระสำคัญ

โครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรของคนในชุมชนที่มีการใช้มากจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  โดยตั้งสภาผู้นำชุมชนที่ประกอบไปด้วยผู้นำตามโครงสร้างและแกนนำกลุ่มต่างๆ มาเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน เช่น ออกสำรวจข้อมูลชุมชน ติดตามผลการดำเนินงาน จัดกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ และยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแบบอย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้สารเคมีในนาข้าว

ด้านการดำเนินงาน เน้นการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างให้คนมีความเชื่อมั่นว่าการทำนาแบบอินทรีย์สามารถทำแล้วได้ผลจริง เช่น การจัดเวทีให้คนที่เคยทำนาอินทรีย์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนที่ยังไม่เคยทำได้เรียนรู้  การพาไปศึกษาดูงานชุมชนที่ทำสำเร็จ  เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม  การกำหนดกติกาให้เริ่มทำนาอินทรีย์จากพื้นที่เล็กๆ เพื่อจะได้ทำสำเร็จง่าย มีการแนะนำสิ่งทดแทนการใช้สารเคมีที่มีคนทดลองใช้แล้วได้ผล ผลที่ได้พบว่า ทำให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำนาอินทรีย์มากขึ้น จากเดิมมีเพียง 5 ครัวเรือน เพิ่มเป็น 53 ครัวเรือน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และค่าใช้จ่ายในการทำนาของชุมชนลดลงด้วย

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

  1. สภาผู้นำชุมชนใหม่ การทำงานต่อเนื่องด้วยทีมเดิมเป็นแกนหลัก มีความสำเร็จเดิมเป็นฐานความเชื่อมั่นของชุมชน เลือกทำในประเด็นปัญหาสำคัญที่ชุมชนต้องการแก้ไขมานาน มาทำงานต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนให้การทำงานราบรื่น และได้รับความร่วมมือจากชุมชนมากขึ้น
  2. สภาผู้นำชุมชน ต้องมีกลไกสนับสนุนระดับครัวเรือน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้เข้าร่วมได้มากที่สุด ทั้งการติดตาม ให้คำแนะนำปรึกษา รวมถึงชวนทำกิจกรรมต่างๆ และสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มาก
  3. ใช้ข้อมูลทำงานให้ได้ผล ต้องการใช้ข้อมูลสถานการณ์จริงและการเปรียบเทียบให้เห็นภาพจึงกระตุ้นความสนใจได้ ดังที่โครงการฯ ได้สำรวจข้อมูลการทำการเกษตรและผลการตรวจสารเคมีในเลือด ที่ทำให้เห็นว่าการเริ่มต้นทดลองแค่ 2 ไร่ไม่ได้มาก ถ้าไม่ได้ผลตามเป้าหมายก็ไม่มีกระทบมาก และผลการตรวจพบสารเคมีในเลือดเป็นรายบุคคล ทำให้เห็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีได้อย่างชัดเจน ทำให้เชื่อมั่นว่าการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมถูกต้องแล้ว หรือที่ยังไม่ตัดสินใจก็ตัดสินใจเข้าร่วมรวมถึงเสนอผลการสำรวจหลังจากเข้าร่วมโครงการด้วยที่ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ช่วยยืนยันผลดีของการทำการเกษตร ที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำต่อไปมากขึ้น
  4. เริ่มต้นการปฏิบัติการในชุมชนให้รวดเร็ว ต้องด้วยการรวมกันทำดีกว่าแยกทำของใครของมัน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มาก เพราะทำได้รวดเร็วกว่า ผู้เข้าร่วมแต่ละคนสามารถเริ่มต้นทำด้วยทรัพยากรเท่าที่มีได้ และโครงการเองก็ใช้ทรัพยากรสนับสนุนในเรื่องนี้ลดน้อยลงด้วย ทั้งยังทำให้เกิดกลุ่มทำงานที่ร่วมกันทำและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันต่อเนื่องได้ด้วย
  5. ทำอะไรให้หน่วยงานรู้เห็น เป็นช่องทางได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจากหน่วยงานและชุมชน  การเริ่มแก้ไขปัญหาที่ใหญ่และมีมานาน จึงต้องการการสนับสนุนค่อนข้างมาก เพราะลำพังงบประมาณโครงการส่วนใหญ่ช่วยได้เพียงการเริ่มต้น  การให้ข้อมูลการทำงานแก่หน่วยงาน ผ่านการเชิญให้มาเป็นวิทยากรในกิจกรรมต่าง ๆ  จะทำให้หน่วยงานเห็นความตั้งใจของคนทำงานและชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม และเห็นโอกาสในการทำกิจกรรมของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ จึงให้การสนับสนุนได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ