“ว่ายน้ำ-ตะโกน-โยน-ยื่น” เอาชีวิตรอด-ช่วยเหลือผู้อื่นได้

สสส. หนุนกิจกรรมสร้างทักษะชีวิต “เด็กใต้ไม่จมน้ำ”

“ว่ายน้ำ-ตะโกน-โยน-ยื่น” เอาชีวิตรอด-ช่วยเหลือผู้อื่นได้

“การจมน้ำ” เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งพบว่าในช่วงปิดเทอมโดยเฉพาะเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีความเสี่ยงสูงสุดและมีอัตราเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำมากที่สุดของทุกๆ ปี

ซึ่งอุบัติเหตุทางน้ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และเป็นความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชนหากพวกเขาเหล่านั้นไม่มีทักษะในการว่ายน้ำหรือทักษะการเอาตัวรอดในน้ำ โดยข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 พบว่า จังหวัดปัตตานีมีจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และสูงเป็นอันดับที่หนึ่งของภาคใต้

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงร่วมกับ  “โครงการกิจกรรมสร้างสรรค์เสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี” จัดการอบรมหลักสูตร “ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นอกจากจะพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเอาชีวิตรอดปลอดภัยจากการพลัดตกน้ำหรืออุบัติเหตุทางน้ำแล้ว ยังเสริมสร้างความรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในครัวเรือน และฝึกฝนทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางน้ำเพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กและเยาวชนรวมไปถึงบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย

นายอานัติ หวังกุหลำ หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด กล่าวว่า จากข้อมูลและสถิติการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่าเกิดจากการจมน้ำเป็นอันดับหนึ่ง แล้วจังหวัดปัตตานีก็มีตัวเลขเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงจนน่าตกใจ กล่าวคือเป็นอันดับสามของประเทศ และเป็นอันดับที่หนึ่งของภาคใต้ โดยมีจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำในปี 2561 มากถึง 23 คน และพบว่าช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็กและเยาวชนมากที่สุดก็คือในวันเสาร์และอาทิตย์ในช่วงปิดเทอม

“กิจกรรมต่างๆ ในครั้งนี้น้องๆ จะได้ประโยชน์ใน 4 เรื่อง หนึ่งเป็นความรู้และความตระหนักถึงความปลอดภัยในครัวเรือนที่อาจจะทำให้เด็กเล็กๆ เสียชีวิตได้จากการมีน้ำในถังน้ำแค่ครึ่งถัง สองเรื่องของทักษะของการเอาตัวรอดในน้ำ ทั้งเรื่องของการว่ายน้ำและการลอยตัวในท่าต่างๆ ให้นานที่สุด เพื่อรอให้คนมาช่วยเหลือ สามเราพบว่าเวลาที่มีคนจมน้ำ ส่วนใหญ่คนที่เข้าไปช่วยก็มักจะจมน้ำเสียชีวิตไปด้วยเพราะไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เราก็จะสอนวิธีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องด้วยการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และสุดท้ายก็คือเรื่องของการทำ CPR เพื่อช่วยเหลือคนที่หมดสติไม่หายใจหรือหัวใจหยุดเต้น” อานัติระบุ

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ภายใต้หลักสูตร “ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด” จัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ ครั้งแรกจัดขึ้นเฉพาะเด็กผู้ชาย ส่วนครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับเด็กผู้หญิงเท่านั้น เพื่อความเหมาะสมตามบริบททางสังคมในพื้นที่ โดยจะใช้เวลา 2 วัน วันแรกประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยทางน้ำ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ภายในบ้านและชุมชน  และมีการฝึกปฏิบัติในสระน้ำเพื่อเรียนรู้ “ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ” ด้วยท่าทางและวิธีการลอยตัวต่างๆ ในน้ำ และพื้นฐานการว่ายน้ำเบื้องต้น

ส่วนในวันที่สองจะเป็นการฝึกทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่เรียกว่า “ตะโกน-โยน-ยื่น” โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ หรือวัตถุสิ่งของใกล้ตัวในการช่วยเหลือ เพื่อให้ทั้งผู้ประสบเหตุและผู้ที่เข้าไปช่วยได้รับความปลอดภัยทั้งคู่ และสุดท้ายก็จะเป็นเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือ CPR ทั้งการปั้มหัวใจและการผายปอด โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมให้ความรู้

น.ส.อารีนา แวนิด และ น.ส.ฟาฎีละห์ แวนิด สองพี่น้องที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ช่วยกันอธิบายว่า กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากของทั้งคู่ เพราะต่างก็ว่ายน้ำไม่เป็น เพราะเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามจะได้ไปเรียนว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะร่วมกันคนอื่นๆ เนื่องจากความไม่เหมาะสมตามหลักศาสนา แต่การอบรมครั้งนี้มีการจัดกิจกรรมแยกออกจากกันระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทำให้ผู้ปกครองเชื่อมั่น เห็นความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย และส่งบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

“กิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก รู้ข้อมูลว่าปัตตานีบ้านเรามีเด็กจมน้ำมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการเสียชีวิตภายในบ้าน ที่เด็กตัวเล็กๆ ตกลงไปในถังน้ำ แล้วก็ได้ฝึกการว่ายน้ำและท่าการลอยตัวในน้ำ ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าถ้าหากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ตัวเราเองก็สามารถที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำได้นานในระดับหนึ่งหรือนานพอที่จะรอให้คนมาช่วยเหลือได้” อารีนาเล่า

“นอกจากที่พี่สาวบอกไปแล้ว ก็ยังได้ความรู้เรื่องการช่วยเหลือคนจมน้ำด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รู้ว่ามีอุปกรณ์ใกล้ตัวหลายอย่างที่สามารถใช้ช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำได้เช่น ขวดน้ำ รองเท้า หรือของที่ลอยน้ำได้ ถ้าไม่ได้มาอบรมรมในครั้งนี้ คิดว่าหากตกน้ำไปคงไม่รอดแน่ๆ” ฟาฎีละห์บอก

ซึ่งการที่กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานที่เป็นผู้หญิงเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นจากการสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านไปถึงผู้ปกครองให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว รวมไปถึงออกแบบกระบวนการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบททางสังคมของการร่วมกันระหว่างชาย-หญิงของพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้

“เราอยากให้น้องๆ กลับไปสื่อสารกับคนในครอบครัว ในชุมชน ให้เกิดความตระหนักและระมัดระวัง เพราะบางทีผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าการมีน้ำในถังน้ำแค่เพียงนิดเดียวก็ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้ ที่เหลือก็จะเป็นทักษะที่จะทำให้น้องๆ มีความปลอดภัย และใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น และช่วยกันลดจำนวนหรือสถิติของการจมน้ำลงไป เพื่อไม่ให้การปิดเทอมครั้งนี้เป็นการปิดเทอมครั้งสุดท้ายของเด็กๆ” นายอานัติ กล่าวสรุป

ทักษะต่างๆ ที่ได้รับไปครั้งนี้ จึงไม่เพียงแค่จะช่วยให้พวกเขาเอาชีวิตรอดจากอุบัติเหตุทางน้ำแล้ว ยังสามารถที่จะขยายความรู้ออกไปสู่การช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคมให้รอดปลอดภัยด้วยทักษะชีวิตที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดอีกด้วย.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ