สถานีตำรวจจำลอง รปค.48 ต้นแบบแก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน
สถานีตำรวจจำลอง รปค.48 ต้นแบบแก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน
สภาพแวดล้อมโอบล้อมด้วยป่าเขา บนถนนสายจันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ มีสถานที่แห่งหนึ่งอยู่ริมทาง เป็นที่บ่มเพาะการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส ได้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพและเตรียมพร้อมตัวเองก่อนออกสู่โลกภายนอก
โรงเรียนราษฎร์ประชานุเคราะห์ 48 จ.จันทุบรี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (รปค.) ลำดับที่ 48 จาก 51 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนประจำเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 ปัจจุบันมีนักเรียนในความรับผิดชอบ 622 ราย นักเรียนทุกคนจะต้องกิน-นอนอยู่ภายในโรงเรียนตลอดทั้งปีการศึกษา และแน่นอน แต่ละคน ต่างที่มา พื้นฐานครอบครัว สังคม นิสัยไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเป็นปัญหา
บางคนมาจากครอบครัวฐานะยากจน บางคนเป็นชนเผ่ามาจากดอยสูง บางคนกำพร้า เร่ร่อน ขายแรงงาน หรือเสี่ยงยาเสพติด และต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ภายในรั้วโรงเรียน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่และหลังโรงเรียนอยู่ติดป่าเขา ความอัดอั้นและสภาพแวดล้อมนี้เอง ทำให้เอื้อต่อการลักลอบหนีออกนอกโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีเหตุเกเรทะเลาะวิวาท ลักเล็กขโมยน้อย
“เด็กหนีออกไปนอกโรงเรียนบ่อย โดดเรียน ขโมยของ สร้างปัญหาให้เพื่อนบ้าน ตำรวจก็ติดตามนำเด็กมาส่งให้เรา” โอภาวิทย์ จั่นพา โรงเรียนราษฎร์ประชานุเคราะห์ 48 เล่า และให้รายละเอียดว่า เมื่อสถานการณ์ปัญหาเป็นแบบนี้ ทางโรงเรียนจึงร่วมมือกับสถานีตำรวจเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการ 1 โรงพัก 1 โรงเรียน และจัดตั้งสถานีตำรวจจำลองโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหา ป้องกัน และส่งเสริมพฤติกรรมนักเรียน ขณะเดียวกันยังช่วยเป็นหูเป็นตาแทนคุณครู
เด็กนักเรียนแกนนำที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับการฝึกจริง ทำงานจริง ไม่แพ้ตำรวจตัวจริง โดยใช้ส่วนหนึ่งของอาคารเรียนหลังเก่าหน้าเสาธงใช้เป็นสถานีตำรวจจำลองโรงเรียน การทำงานทุกอย่างลอกแบบมาจากสถานีตำรวจจริง ทั้งการฝึกออกกำลังกายยามเช้า อบรมระเบียบวินัยในตอนเย็น และความสามัคคีหมู่ใสนตอนเย็น มีโครงสร้าง ได้แก่ สืบสวน สอบสวน ปราบปราม อำนวยการ และจราจร มีผู้กำกับ มีหัวหน้าชุดทั้ง 5 สายงาน
ทุกขั้นตอนการทำงานเสมือนตำรวจจริง โดยมีครูประจำชั้นเป็นอัยการ และครูฝ่ายปกครองหรือผู้อำนวยการโรงเรียนจะทำหน้าที่เป็นศาล หากมีเหตุต้องสงสัยต้องมีการขอหมายตรวจค้น เมื่อจับกุมแล้วก็จะมีการสอบสวนและลงบันทึกสำนวนแล้วส่งให้พนักงานอัยการ จากนั้นส่งฟ้องให้ศาลตัดสินความผิดตามกฎหมายซึ่งคือกฎระเบียบของโรงเรียน เช่น หักคะแนน เป็นต้น
ครูโอภาวิทย์ บอกถึงสิ่งที่ได้จากโครงการสถานีตำรวจจำลอง ว่า ช่วยสร้างความมีวินัยให้กับเด็ก เพราะเป็นสิ่งความมีวินัยสำคัญ การที่จะเรียนหนังสือ การที่จะทำหน้าที่ มันจะบกพร่องไปหมดเลยหากไม่มีวินัยในตนเอง ซึ่งพอเด็กมีวินัยในตัวเอง เคารพตัวเอง เคารพคนอื่นเขาก็จะทำกิจกรรมอื่นๆ และอยู่ภายใต้กฎของโรงเรียนได้ และการที่เด็กอยุ่ในสังคมค่อนข้างจะปิดแบบนี้ การสร้างสถานการณ์ในการดำรงชีวิตให้เขารู้ เมื่อออกไปนอกโรงเรียแล้ว เขาจะปรับตัวอยู่กับสังคมภายนอกได้
“เด็กเราไม่ใช่เด็กปัญญาเลิศ เรารับจากเด็กที่มีปัญหา แล้วทำยังไงให้ปัญาหมดไป แล้วเขาออกไปอยู่ได้ในสังคม ใช้ชีวิตได้อย่ามีความสุขในสังคมภายนอก นั่นคือ ความภาคภูมิใจของเรา” ครูโอภาวิทย์ ย้ำชัดถึงความมุ่งหวังที่แท้จริง
สอดคล้องกับความเชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ว่าวิธีปราบปรามเด็กเกเรที่ให้ได้ผลดีที่สุด คือเอามาเป็นพวกเดียวกัน มอบหมายงาน เมื่อมีหน้าที่จึงเกิดเป็นความรับผิดชอบ เพราะลึกๆ แล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี
พ.ต.อ.คณกร อัศวเมธี ผกก.สภ.เขาคิชฌกูฏ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในโรงเรียนมีหลักๆ คือ การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง การลักเล็กขโมยน้อย บุหรี่ และชู้สาว เมื่อมีสถานีตำรวจจำลองโรงเรียนก็จะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับกฎ เพราะกฎของโรงเรียนคือกฎหมาย ไม่มีเรื่องเหลื่อมล้ำ หรืออย่างน้อยเด็กนักเรียนตำรวจมีวินัยมากขึ้น เพราะคัดเลือกเด็กเกเรให้มาทำหน้าที่นี้ เพราะวิธีการปราบปรามที่ดีที่สุด คือเอามาเป็นพวก จัดให้มีหน้าที่มีความรับผิดชอบ เพราะเชื่อว่าทุกคนจะดีได้หากมีความรับผิดชอบ จะรู้สถานะตัวเองว่าต้องทำตัวและวางตัวอย่างไร
ผกก.สภ.เขาคิชฌกูฏ ยังเชื่อด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเกเรเข้าสู่กระบวนการ ได้มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เพราะทุกคนต้องการโอกาส เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ต่อไปก็จะเป็นคนให้โอกาสคนอื่นเหมือนที่เคยได้รับ นอกจากนี้สถานีตำรวจจำลองในโรงเรียนยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์งานของตำรวจ ลดความกลัวของประชาชนที่มีต่อตำรวจอีกด้วย
ภาระและหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็กคนหนึ่งให้มีระเบียบวินัย มีคุณค่า สามารถจัดการชีวิตตนเองได้ อย่างเช่น รุ่งโรจน์ รอดคง หรือน้องเฟิร์ส นักเรียนชั้น ม.4 ซึ่จากเด็กที่เกเร โดดเรียนบ่อย เมื่อมีเป็นตำรวจของสถานีตำรวจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งครูหลายคนก็บอกว่า มีระเบียบวินัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
น้องเฟิร์ส บอกว่า สาเหตุที่เข้ามาทำงานตรงนี้ เพราะเห็นว่าทางโรงเรียนเปิดรับสมัครคนอยู่ ประกอบกับอนาคตอยากเป็นตำรวจ ก็เลยลองมาทำดู พอเข้ามาแล้วก็ได้ฝึกจริงๆ ตื่อนตั้งแต่ ตี 5 มาวิ่งออกกำลังกายก่อนแยกย้านไปเรียนประจำวัน พอถึง 5 โมงเย็นก็ต้องมารวมตัวฝึกกันอีก และแยกการอบรมตามสายงานการรับผิดชอบของตนเอง ส่วนผมอยู่ฝ่ายตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวกและจัดการการจราจรภายในโรงเรียน มีสมาชิกด้วยกัน 5 คน ตอนนี้มีระเบียบวินัยมากขึ้น เพราะต้องทำตัวให้เหมาะสม
สถานีตำรวจจำลองในโรงเรียน จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางให้โรงเรียนอีกหลายๆ แห่ง ได้นำไปทดลองใช้ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนได้ ซึ่งที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ได้พิสูจน์แล้วว่า ได้ผลจริงมาแล้ว