สร้างคุณค่าให้ผู้สูงวัย ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ลูกหลานไทยได้ชื่นชม
จากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย หากผู้สูงอายุต้องอยู่นิ่งเฉย ไม่ได้ทำอะไร อาจทำให้รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง หรือไม่ก็คงจะสูญหายไปในวันที่ล้มหายตายจาก แต่ยังคงมีผู้สูงอายุบางกลุ่มเลือกที่จะไม่อยู่นิ่งเฉย เพราะเชื่อว่าตัวเองยังมีเรี่ยวแรงทำอะไรได้เหมือนคนหนุ่มสาว และยังมีคุณค่ากับสังคมเหมือนกับผู้สูงอายุบ้านทับไทร ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ที่ได้มีการลุกขึ้นมาจัดการตัวเองด้วยการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งด้านการดูแลตัวเอง ผู้อื่น และสังคม ขณะเดียวกันยังใช้ประสบการณ์ที่โชกโชนวางรากฐาน ตลอดจนถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลานในชุมชนได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนบ้านทับไทรอีกด้วย ครูยา หรือคุณอารยา ศิริสวัสดิ์ ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ได้เล่าถึงเหตุผลที่ชักชวนผู้สูงวัย ในพื้นที่มาตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ว่า ‘ชมรมดังกล่าว สร้างขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน อยากทำอะไร อยากถ่ายทอดอะไรก็มาระดมสมองช่วยกัน โดยแรกเริ่มเก็บค่าสมาชิกคนละ 120 บาท เพื่อไว้ใช้เป็นสวัสดิการ ส่วนคนที่ยังไม่ถึงวัย แต่อยากทำงานด้านผู้สูงอายุก็มาช่วยกันก็ได้’ โดยครูยายังได้เล่าถึงผู้สูงอายุให้ฟังต่ออีกว่า ‘เวลาที่เหลือทั้งปีของผู้สูงวัย พอไม่มีอะไรทำก็เหงา ว้าเหว่ ซึมเศร้า พาโรครุมเร้าอีก ทั้งๆ ที่บางคนยังแข็งแรงอยู่ แต่เพราะไม่มีอะไรให้เขาทำกันอย่างต่อเนื่อง’
สำหรับกิจกรรมของชมรมในช่วงแรก คือในหนึ่งสัปดาห์จะพบกัน 3 วัน ร่วมกันออกกำลังกาย ช่วยกันดูแลเฝ้าระวังสุขภาพซึ่งกันและกัน ต่อมาจะทำกิจกรรมทุกวัน อังคาร พุธ และพฤหัสบดี ผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่มีธุระหรือป่วยติดบ้านติดเตียงก็จะมารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามหลัก 3 อ ได้แก่
1.ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายด้วย รำไม้พลอง รำวง เต้นบาสโลป โยคะ จนชำนาญกว่า 20 คนที่สามารถไปออกงานแสดงได้ด้วย
2.อาหาร มาพูดคุยถึงอาหารการกิน ว่าต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน โดยในส่วนอาหารนี้จะให้ทุกคนนำอาหารมาจากที่บ้านใครบ้านมัน แล้วมาชิมดูจะได้รู้ว่าผู้สูงอายุแต่ละบ้านทานอาหารรสชาติแบบไหน ก็จะมีคุณหมอคอยให้คำแนะนำในด้านโภชนาการ
3.อารมณ์ เมื่อทุกคนได้มาเจอกัน เหมือนเพื่อนได้มาเจอเพื่อน ได้ยิ้มแย้ม แจ่มใส่ ก็เกิดเป็นความสุข ส่งผลดีด้านอารมณ์ให้ดีไปด้วย
และเมื่อภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ทุกคนจะระดมความคิดเห็นกันว่าอยากจะทำอะไรในวันที่ 14 และ 25 ของแต่ละเดือน ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของสมาชิก
ดังนั้นกิจกรรมหรือหลักสูตรของชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร จึงไม่มีแบบตายตัว ไม่ได้สร้างหลักสูตรให้ สมาชิกอยากทำอะไร อยากสอนอะไร ก็จะสอนกันเอง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง และสำหรับใครที่อ่านจบแล้ว ลองนำแนวคิดของครูยาไปปรับใช้กับชุมชนของเรากันดูได้นะคะ