“สสส.” จับมือ “กลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา” เสริมพลังสร้างสุข “เด็กตะวันออก”

“สสส.” จับมือ “กลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา” เสริมพลังสร้างสุข “เด็กตะวันออก”

จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปูพื้นฐานชีวิต เพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนที่ยั่งยืน

สิ้นเสียงโห่และตามด้วยเสียงฆ้องกลองของคณะกลองยาวชาว ช.พ.(โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคาร) เด็กและเยาวชนจาก 8 จังหวัดภาคตะวันออกก็ร่วมร้องรำกันอย่างสนุกสนาน เป็นการเปิดงานสรุปบทเรียนของ “กิจกรรมจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคตะวันออก” ได้อย่างเรียบง่าย

การรวมตัวของเด็กและเยาวชน ณ โรงแรมแม่พิมพ์รีสอร์ทและบริเวณชายหาดแหลมแม่พิมพ์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพื่อสรุปบทเรียนการทำกิจกรรมของพวกเขาในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562 ที่มีทั้งเด็กเล็กๆ ในระดับประถมไปจนถึงเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย มีทั้งเด็กจากชายขอบชายแดนและเด็กจากสังคมเมือง รวมกันถึง 29 กลุ่ม และสนใจทำงานจิตอาสาทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับ การเสริมสร้างสุขภาวะ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งดำเนินงานโดย หน่วยจัดการกลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นอกจากการให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มีลักษณะเฉพาะของภาคตะวันออกเพื่อโยงใยไปให้เกิดการรู้เท่าทันกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภูมิภาคในหลายๆ ด้านตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งขยายเป็นโครงการพัฒนาระเบียงพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยวิทยากรแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ ผ่านทางฐานกิจกรรมที่หลากหลาย

อาทิกิจกรรมทางด้านสุขภาวะโภชนาการที่เรียบง่ายโดยการชักชวนให้เด็กๆ มาทำขนมด้วยกัน เส้นสายของฝอยทองที่โรยลงในน้ำเชื่อมกระทะทองเหลืองกลับแฝงเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ไม่น้อย จาก Mind mapping สู่การลงพื้นที่เรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาการทำอาหารท้องถิ่นของเหล่าเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดห้วงโสม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ในชื่อโครงการ Play and learn เชิญ.. ชวน.. ชิม จนเด็กไร้สัญชาติจากโรงเรียนชายขอบมีทักษะด้านอาหารสามารถประกวดจนได้รับรางวัลระดับจังหวัดจนถึงระดับภาค หรือการสืบสานภูมิปัญญาทางวิถีชีวิต พรรณพืชท้องถิ่นผ่าน โครงการสืบสานอาหารปลอดภัย ใส่ใจอาหารถิ่นเกิด ของกลุ่มเยาวชนโรงเรียนเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ต่อมากลายเป็น “ปฏิทินการกินอาหารตามฤดูกาลของตำบลเขาไม้แก้ว” ที่ครอบคลุมทั้งสัตว์และพืชทั้งของป่าและวัตถุดิบจากการเกษตรในชุมชน

เรื่องสุขภาวะทางเพศก็ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนหลายกลุ่มผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น กลุ่มลูกชาวบ้านจากมหาวิทยาลัยบูรพาจังหวัดชลบุรี ได้มองภาพรวมอย่างบูรณาการของพื้นที่สาธารณะตามชายหาดบางแสนและหาดวอนนภาในมุมมองของพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเสี่ยงทั้งด้านอนาจาร ปัญหาทางเพศ และยาเสพติด จึงรวมตัวกันสร้าง โครงการ Our Zone Our Area ขึ้นอย่างสร้างสรรค์ หรือ กลุ่มรู้รัก รู้จักปฏิเสธการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ของเด็กๆ จากโรงเรียนคลองใหญ่พิทยาคม จังหวัดตราด ที่ข้ามกรอบความคิดจากเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าละอายที่ต้องปกปิดกลายมาเป็น “ความจำเป็น” ที่ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะในการรู้จักป้องกันตนเอง

“น้องไอซ์” ด.ช. จักรกฤษณ์ สุทธิมาลย์ ชั้น ม.โรงเรียนคลองใหญ่พิทยาคม โรงเรียนชายขอบ เจ้าของโครงการรู้รัก รู้จักปฏิเสธฯ เป็นผู้สืบสานความรู้และเข้าร่วมกิจกรรมทางสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป.6 บอกว่า “การทำโครงการนี้นอกจากได้ความรู้ ผมยังได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม และฝึกภาวะผู้นำ ซึ่งได้ประโยชน์มากๆ”

ขณะที่เด็กตัวน้อยอย่าง “น้องมรรค” ดญ. มรรคนิชา ชื่นกิจมงคล นักเรียนชั้น ป.โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จาก โครงการละครสร้างเพื่อน ผู้เป็นจิตอาสาตัวน้อยไปเล่นละครหุ่นเงาให้แก่เด็กๆ ผู้ป่วยซึ่งก็สนุกกับละครเรื่องเจ้าหญิงถุงกระดาษกับมังกรของน้องมรรค

“ตอนไปเล่นก็ตื่นเต้นดี เพื่อนๆ ที่ดูก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่หนูคิดว่า เพื่อนๆ มีกำลังใจ น่าจะหายป่วยเร็วขึ้นค่ะ” น้องมรรคเล่าอย่างภูมิใจ ซึ่งไม่ต่างกับพี่ๆ สมาชิก กลุ่ม Puppet of mind แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้สร้างหุ่นมือ “แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ” ที่เนื้อหาในเชิงนามธรรมชวนให้คิด

หรือเวิร์คชอปสนุกๆ อย่างบอร์ดเกมจาก โครงการ Sex must Say และการวาดรูปตนเองโดย กลุ่มโครงการธรรมมะ ก็ได้เห็นกิจกรรมให้ความรู้โดย กลุ่มผลิตสื่อ รักษ์ผ่านสื่อ ลงมือผ่านเลนส์ ก็ยังมีโครงการน่าสนใจหลายโครงการเช่น โครงการสืบสานภูมิปัญญาบ้านตาหนึก ที่นำเอาเปลือกหอยจากชายทะเลติดกับโรงเรียนมาเป็นจุดเด่น หรือฐานที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องภาษาจาก โครงการรักษ์อ่านเขียนเรียนรู้ชีวิต รวมไปการเล่าเรื่องง่ายๆ ด้วยกิจกรรมสานตั๊กแตนจากใบมะพร้าว

“ได้ลงชุมชน ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ทำให้เราได้รู้คุณค่าในภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มากกว่าเดิม อยากรักษาไว้ ไม่ให้หายไป และส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” เสียงสะท้อนจาก นุก ภัทราภรณ์ จันทร์รัตนา จากกลุ่มลูกไม้ใต้ต้น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ทำงานเรื่อง “การศึกษาบนฐานชุมชน” เป็นการเรียนรู้ในชื่อ ระเบียงการเรียนรู้ตะวันออก : ELC ที่มองว่า หาก EEC จะเปลี่ยนระยองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม พวกเขาจะใช้กระบวนการ ELC เพื่อสร้างการเรียนรู้และและบ่มเพาะความเติมโตด้านความคิดให้คนรุ่นใหม่ให้หันมารักและอนุรักษ์สิ่งดีๆ ที่บ้านเกิด เพราะพวกเขามีสิทธิเลือกอนาคตตนเอง

ลมอุ่นพัดพาว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าเข้ม แดดบ่ายล้อประกายคลื่น หาดทรายราบกว้าง ลูกรักบี้ลอยท่ามกลางเสียงเฮฮา ความขะมักเขม้นของเด็กๆ ที่ช่วยกันเก็บขยะชายหาดพร้อมไปกับนับก้าวการเดินผ่านแอพลิเคชั่น กิจกรรมริมทะเลหาดแม่พิมพ์ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับ “โครงการพลังเด็กตะวันออก”ทั้งสิ้น นับเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับความสนุกในกิจกรรมกลางแจ้งของสมาชิกหลังจากอยู่ในห้องประชุมทั้งวันได้เป็นอย่างดี

“จากการทำงานกว่า 20 ปีในพื้นที่เริ่มจากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา การได้มาเป็นหน่วยจัดการของ สสส. ทำให้เราได้ขยายงานกว้างออกไปอีกในทุกจังหวัดภาคตะวันออก ได้พบว่าแต่ละโครงการมีจุดเด่นน่าสนใจที่สามารถแก้ปัญหาและนำมาขยายผลต่อได้ โดยความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนขบวนเด็กและเยาวชนภาคตะวันออก ยังต้องการความสนับสนุนจาก สสส. ให้ขับเคลื่อนโครงการที่มีอยู่ต่อเพื่อให้เกิดการขยายผลของโครงการต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเองได้ต่อไป”  คือบทสรุปการทำงานที่ผ่านมาและการมองสู่อนาคตของ “พี่แฟ๊บ” บุปผาทิพย์ แช่มนิล ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคตะวันออก

นี่คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากแรงกายและแรงใจของเด็กและเยาวชนภาคตะวันออกในการร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้มิติต่างๆ ให้เกิดขึ้นทั้งกับตนเอง ครอบครัว  โรงเรียน  ชุมชน สังคมด้วยหัวใจรักษ์บ้านเกิดอย่างแท้จริง.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ