สานพลังรักสามัคคีเยียวยาช่วยเหลือ “ผู้ป่วยจิตเวช”
สานพลังรักสามัคคีเยียวยาช่วยเหลือ “ผู้ป่วยจิตเวช”
“ชมรมคลองหินรักจิต” สร้างกิจกรรม “ดีต่อใจใครก็ชอบ”
การมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และปัญญา เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา แต่ก็ใช่ว่าคนทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้ถ้วนทั่ว ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ที่ตำบลคลองหิน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ชุมชนที่มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่กว่าร้อยละ 95 ดำเนินชีวิตกันอย่างสงบสุข แต่ก็พบว่าคนในชุมชนมีปัญหาโรคภัยพื้นฐานแฝงตัวอยู่หลายชนิด ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งอาการป่วยทางด้านจิตเวชซึ่งเป็นอาการป่วยภายในหากไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็นร่องรอยความผิดปกติได้เลย หากปล่อยไว้นานวันอาจคุกคามทำให้ความสงบสุขของชุมชนหายไปได้
จากการสำรวจผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตเวชทั้งตำบลพบว่ามีมากถึง 76 รายจากประชากรทั้งสิ้น 7,096 คน เป็นผู้ป่วยที่สามารถฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติในสังคมได้ 25 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับสารเสพติด พันธุกรรม และความเครียด ผู้ป่วยบางส่วนเคยเข้ารับการรักษาและกลับมามีอาการป่วยซ้ำเนื่องจากไม่ยอมรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธการกินยา ไม่มีงานทำ มีปัญหาในครอบครัว ยิ่งนานวันก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชนโดยทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชน ไม่ได้พ้นสายตาของ นายมหำหมาด บ้านนบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.คลองหิน ซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการรับฟังปัญหาและหาแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกบ้าน จึงมีการปรึกษากับหลายหน่วยงานในชุมชนทั้งโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว จากนั้นจึงได้ไปดูงานการดูแลผู้ป่วยด้านจิตเวชที่บ้านยางเกาะ ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา นำองค์ความรู้มาปรับใช้ในหมู่บ้าน และจัดตั้งเป็น “ชมรมคลองหินรักจิต” เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวลูกบ้านที่มีผู้ป่วยทางจิตขึ้นทันที และในระยะต่อมาได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสุขภาวะที่ดีในผู้ป่วยจิตเวช” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นายมหำหมาด บ้านนบ ประธานชมรมคลองหินรักจิต เปิดเผยว่าในพื้นที่มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่หลายราย ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ส่งผลต่อสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวของผู้ป่วยเอง และส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นๆ ใน ชุมชนด้วย เมื่อโครงการก็เกิดการรับมือกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีคณะทำงานที่ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) สมาชิก อบต. เจ้าหน้าที่กู้ภัย โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล โดยจะมีการประสานงานกับโรงพยาบาลอ่าวลึก และโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลด้านสุขภาพจิตของภาคใต้
“การผู้ใหญ่ก็จะรับรู้และรับฟังปัญหาของลูกบ้าน ลูกบ้านก็มักจะมาปรึกษาว่าให้ผู้ใหญ่ช่วยที เราก็บอกว่าถ้ามีอาการอย่างนี้ก็ต้องไปโรงพยาบาล แต่พอมีโครงการเราก็รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดูแลผู้ป่วยกันเป็นระบบ ถ้ามีผู้ป่วยก็จะประสานโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล โรงพยาบาลอ่าวลึก ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสวนสราญรมย์” ประธานชมรมคลองหินรักจิต กล่าว
ขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้ยังร่วมมือกันฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชนขึ้นผ่านชมรมคลองหินรักษ์จิต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในชุมชนได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นปัญหาของครอบครัว ลดอัตราการกลับมาป่วยซ้ำของผู้ป่วยรายเก่า โดยการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ฟื้นฟูอาชีพเบื้องต้นของผู้ป่วยและผู้ดูแล เช่นการสอนวิธีปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกต้นทานตะวันอ่อน การทำน้ำยาล้างจาน ทำพรมเช็ดเท้า สร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ เกิดความภูมิใจในศักยภาพของตนเอง
นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ดูแลระหว่างผู้ป่วยกับ “คู่บัดดี้” ที่รู้จักกับผู้ป่วยดี คอยติดตามอาการและการรับประทานยาอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจและคำปรึกษาในยามที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปล่อยให้รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเก็บตัวไม่มีสังคม ทำให้ผู้ป่วยซึ่งเปลี่ยนมาเป็น “สมาชิกชมรมคลองหินรักษ์จิต” มีสุขภาพจิตดีขึ้น บางรายสามารถกลับไปช่วยเหลือครอบครัว และไม่ได้สร้างความกังวลใจให้สมาชิกของครอบครัวเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันชุมชนยังร่วมมือกันฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชในชุมชนขึ้นผ่านชมรมคลองหินรักษ์จิต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในชุมชนได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นปัญหาของครอบครัว ลดอัตราการกลับมาป่วยซ้ำของผู้ป่วยรายเก่า โดยการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ฟื้นฟูอาชีพเบื้องต้นของผู้ป่วยและผู้ดูแล เช่น การสอนวิธีปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกต้นทานตะวันอ่อน การทำน้ำยาล้างจาน ทำพรมเช็ดเท้า สร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ เกิดความภูมิใจในศักยภาพของตนเอง
ด้าน นางบุญเวียน ลีลากานต์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านหนองหลุมพอ ต.คลองหิน กล่าวย้ำว่าก่อนมีโครงการทางผู้ใหญ่บ้านมักจะรับภาระเป็นผู้ไปส่งผู้ป่วยจิตเวชไปยังโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ตลอดมา และเห็นว่าบ้านคลองหินมีผู้ป่วยด้านจิตเวชมากที่สุดในอำเภออ่าวลึก จึงหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
“กิจกรรมที่เกิดขึ้นเราไม่ได้คาดหวังจากผู้ป่วยมาก แต่เราอยากให้ผู้ป่วยอยู่ในสังคมได้ไม่มีใครรังเกียจ มีความสุขในชีวิตประจำวันก็เพียงพอแล้ว” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านหนองหลุมพอ กล่าว
นายเอกสิทธิ์ มาตรบุตร รองนายก อบต.คลองหิน เสริมว่าเมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชเกิดขึ้น ผู้ที่รับภาระมากที่สุดก็คือครอบครัว รองลงมาก็คือสังคม ผู้ป่วยจิตเวชแม้เพียงคนเดียวก็ส่งผลต่อสังคม และในชุมชนไม่ได้มีผู้ป่วยจิตเวชเพียงคนเดียว ดังนั้นผู้นำหมู่บ้านจึงคิดรวมตัวกันก่อตั้งเป็นชมรมขึ้น มีโรงพยาบาลสวนสราญรมย์เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยในระยะแรก และสร้างกิจกรรมให้ผู้ป่วยและสมาชิกครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือบางครั้งก็อาจมีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วยและสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยอีกด้วย
นอกจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและการจับคู่บัดดี้ เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชแล้ว คณะทำงานของโครงการฯ ยังพัฒนาสร้าง “ทีมผู้ช่วยเหลือ” 5 ทีมใน 5 หมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย เข้าระงับเหตุหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุก้าวร้าวรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสมาชิกในหมู่บ้านหรือชุมชนอย่างทันท่วงที
หลังจากการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยมีคณะทำงานแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนทำให้ผู้ป่วยในชุมชนมีสุขภาพจิตดีขึ้น บางรายสามารถกลับไปช่วยงานครอบครัวได้ ช่วยลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างหรือสมาชิกครอบครัว ความสงบสุข และสุขภาวะของคนชุมชนจึงเริ่มกลับมาดีเหมือนเดิมอีกครั้งด้วยพลังสามัคคีของสมาชิกทุกคนในชุมชน.