สานพลังสามัคคีด้วยถ้อยคำร้อง และท่วงทำนองแห่งศรัทธา

สสส. หนุนเยาวชนแดนใต้ร่วมสืบสาน “อนาชีดกอมปัง”

สานพลังสามัคคีด้วยถ้อยคำร้อง และท่วงทำนองแห่งศรัทธา

“กอมปัง” เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองในสังคมมุสลิมมลายู ที่มีตำนานหรือเรื่องราวสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเป็นเครื่องดนตรีเพียงอย่างเดียวที่ได้รับการยกเว้นตามหลักของศาสนาอิสลาม ที่มักนำมาใช้แสดงในงานประเพณีต่างๆ ในพื้นที่มาอย่างสม่ำเสมอ

แต่ปัจจุบันการละเล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ กลับหาชมได้ยากและกำลังจะเลือนหายไป เนื่องจากขาดทั้งองค์ความรู้และคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบสาน ทาง สภาเด็กและเยาวชนตำบลป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จึงได้จัดทำ “โครงการดนตรีฮาลาล (อนาชีดกอมปัง)” ขึ้นเพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และวัฒนธรรมอันดีงามที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการที่จะร่วมกันสร้างความสุขในการเรียนรู้ ควบคู่กับการสร้างความรักในถิ่นฐานบ้านเกิดให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่

คำว่า “กอมปัง” นั้นเป็นคำเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมมลายู จัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทตีหรือเคาะเพื่อให้จังหวะ สร้างขึ้นจากหนังแพะ มีลักษณะคล้ายกลองขนาดเล็กทรงกลม โดยในการละเล่นจะมีเครื่องดนตรีประเภทเคาะหรือตีอื่นๆ ประกอบอยู่ในวงร่วมกันอีกประมาณ 12 ชนิด ส่วนคำว่า “อนาชีด” นั้นหมายถึงคำร้องหรือการขับร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอน และความศรัทธาในหลักศาสนา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสิ่งที่ดีงาม โดยการละเล่นอนาชีดกอมปังนั้นผู้เล่นจะต้องแต่งกายด้วยชุดมลายูพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์สวยงาม

            นายฮิมรอน มะสัน ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลป่าบอน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่าตนเองและเพื่อนๆ ได้ก่อตั้งวงดนตรีที่มีชื่อว่า “อนาชีดกอมปัง อัลราตอน” ที่แปลว่า “บ้านเกิดของเรา” ขึ้นมาจากความความสนใจที่อยากจะรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของคนมลายูบ้านเราเอาไว้ แล้วก็อยากที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนอิสลามสามัคคีซึ่งอยู่ในชุมชนของเรา เพื่อให้น้องๆ ที่มีความสนใจในเรื่องของดนตรีได้มาเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านเอาไว้

“ภายใต้โครงการนี้น้องๆ จะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยมาทำกิจกรรมร่วมกัน และจะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องของทักษะในเล่นหรือการตีกลองประเภทต่างๆ ให้เข้ากับเนื้อหา หรือการขับร้องอนาชีดอย่างไรให้ไพเราะ ส่วนเนื้อหาในอนาชีดที่นำมาขับร้องนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาตามหลักศาสนา การเป็นมุสลิมที่ดี การเป็นลูกที่ดี การเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม เป็นต้น” ฮิมรอน กล่าว

ซึ่งตัวอย่างหนึ่งของคำร้อง “อนาชีด” ที่ถูกนำมาถ่ายทอดพร้อมกับเสียงดนตรีจาก “กอมปัง” มีชื่อว่า “อาเนาะ ซอและห์” ที่หมายถึงการเป็นลูกที่มีความกตัญญูต่อพ่อและแม่ โดยในเนื้อร้องจะบอกเล่าว่า ลูกที่ดีนั้นจะต้องทำตัวอย่างไร ควรพูดจาอย่างไรกับพ่อแม่ หรือต้องช่วยเหลือผู้ใหญ่ในครอบครัวอย่างไร โดยมีท่องทำนองของเครื่องดนตรีต่างๆ ขับขานประสานกับเสียงร้องอย่างเข้าจังหวะ

โดยเนื้อหาของการขับร้องอนาชีดนั้น “ฮิมรอน” อธิบายว่าไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นภาษาอะไร จะใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ หรือภาษมลายูก็ได้ และไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาสนาเพียงอย่างเดียว เนื้อหาอะไรก็ได้ แต่ว่าจะต้องเป็นเรื่องราวที่ดีและสร้างสรรค์

นายอาบูฮาซัน บอฮอ นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 1 วิทยาลัยชุมชนปัตตานี หนึ่งในสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลป่าบอนที่สนใจเรื่องราวของกอมปัง จึงรวมตัวกันไปเรียนรู้ฝึกฝนการขับร้องอนาชีดและการเล่นกอมปังจนชำนาญ ก่อนที่จะมาถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องๆ ในชุมชนของตนเอง เล่าว่า อนาชีดกอมปังจะนิยมนำมาเล่นในงานบุญ ประเพณี หรือวันสำคัญต่างๆ เพื่อดึงดูดให้คนเกิดความสนใจ

“กอมปังเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นวัฒนธรรมของคนมุสลิมมลายูที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักศาสนา เมื่อถูกนำมาเล่นร่วมกับการขับร้องอนาชีดแล้ว นอกจากจะทำให้ผู้ฟังได้ความบันเทิงแล้ว ยังได้ความรู้ หลักคำสอน เรื่องราว หรือสิ่งที่ดีต่างๆ  ไปพร้อมกัน” อาบูฮาซัน กล่าว

นายบาเหม สาเมาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามสามัคคี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าการฝึกสอนอาชีดกองปังภายในโรงเรียนนั้นเป็นกิจกรรมที่ดีมาก สอดคล้องกับนโยบาย เก่ง ดี มีสุข ของสถานศึกษา โดยเฉพาะการเข้าไปตอบโจทย์ในเรื่องของคำว่ามีสุข

“เพราะอนาชีดกอมปังเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ และยังเป็นเครื่องดนตรีและความบันเทิงที่เด็กๆ ทุกเพศวัยสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ขัดกับหลักศาสนา โดยเนื้อหาต่างๆ ที่นำมาขับร้องนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์” ผอ.บาเหม กล่าว

ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการหันมาฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ รวมไปถึงการฝึกขับร้องอนาชีดแล้ว ยังสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยปลูกฝังความรักในวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของบ้านเกิดตนเอง พร้อมกับได้ทบทวนคำสอนหรือสิ่งดีๆ ตามหลักศาสนา ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี ด้วยการจัดให้มีกิจกรรมเพื่อแสดงทักษะและความสามารถของเด็กๆ ให้กับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

“เป้าหมายของเราก็คืออยากเห็นคนรุ่นใหม่สามารถอนุรักษ์อนาชีดกอมปังได้ สิ่งสำคัญก็คืออนาชีด กอมปังยังเป็นการแสดงที่สามารถเข้าร่วมแสดงกับเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ ได้ทุกประเภท เข้าได้กับทุก วัฒนธรรม ทุกศาสนา และทุกภาษาโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี” นายฮิมรอน มะสัน กล่าวสรุป

พลังของคนรุ่นใหม่ในการร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอันดีงามในสังคมมลายูไม่ให้เลือนหายไปนั้น นอกจากจะสร้างให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยเสียงดนตรีอย่างไร้พรมแดน.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ