“หนมพื้นบ้าน” สร้างสุขสนุกเรียนรู้ที่ “บ้านศาลาแม็ง”
“หนมพื้นบ้าน” สร้างสุขสนุกเรียนรู้ที่ “บ้านศาลาแม็ง”
สสส. หนุนเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมอาหารเมืองลุง
“ขนมพื้นบ้าน” และ “อาหารพื้นถิ่น” เป็นภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลายไปตามบริบทของพื้นที่ แต่ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมเน้นความสะดวกสบายในปัจจุบัน ทำให้เด็กและเยาวชนหลายคนหันไปบริโภคขนมขบเคี้ยวตามกระแสของการโฆษณา หลงลืมและไม่เห็นคุณค่าของ “ขนมพื้นบ้าน” ที่มีรากเหง้าเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชุมชนพื้นถิ่นไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ไม่ใช่ที่ ชุมชนบ้านศาลาแม็ง ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เพราะที่ชุมชนแห่งนี้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ๆ ได้มีการรวมตัวกันจัดทำ “โครงการหนมพื้นบ้านสร้างสรรค์สร้างสุข” ภายใต้การดูแลของ “โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสุข เรียนรู้ อ่าน กิน เล่น ให้เป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อร่วมกันค้นหาภูมิปัญญาขนมพื้นบ้าน เพื่อที่จะได้สืบสานต่อยอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาอันมีเอกลักษณ์เหล่านี้ไม่ให้เลือนหายไปจากชุมชน
นายรัชติคม หนูเส้ง หรือ “วา” แกนนำเยาวชนหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า โครงการหนมพื้นบ้านสานสร้างสุข นั้นมีที่มาจากการที่ตนเองนั้นได้เห็นว่าในชุมชนบ้านศาลาแม็งและชุมชนใกล้เคียงซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมนั้นมีขนมพื้นบ้านมากมายที่น่าสนใจ ก็เลยได้มีการไปสำรวจขนมในตลาดนัดของชุมชนซึ่งจัดขึ้นทุกวันพุธและศุกร์ โดยพบว่ามีขนมต่างๆ มากมายถึงกว่า 80 ชนิด
“ความน่าสนใจของขนมที่ค้นพบใน 80 ชนิด คือหนึ่งหากินได้ยาก สองก็คือมีรสชาติที่อร่อยแตกต่างจากขนมของชุมชนของรอบข้างใกล้เคียง และสามก็คือมันจะไม่มีอีกแล้วถ้าเราไม่อนุรักษ์หรือช่วยกันสืบสานไว้ ซึ่งขนมพื้นบ้านหลายๆ อย่างจะหากินได้เพียงในช่วงเทศการประเพณีทางศาสนาที่สำคัญอย่างวันอิดิลฮัสฮาหรือวันฮารีรายอเท่านั้น” น้องวากล่าว
โดยขนมพื้นบ้านที่ถูกจัดว่าหากินได้ยากและมีแนวโน้มว่ากำลังจะเลือนหายไปจากชุมชนนั้น “วา” ได้ยกตัวอย่างที่ฟังแล้วแทบไม่เคยผ่านหูมาได้มากมายหลายชนิด อาทิ ขนมตาหยาบ, ขนมค่อมสาคูไส้ถั่วเขียว, ขนมลาก, ขนมเจาะหู, ขนมมือขนมตีน, ขนมฝามี ฯลฯ
เมื่อขนมที่อร่อยและหาทานได้ยากเหล่านี้ กำลังจะถูกหลงลืมไปจากชุมชนเนื่องจากคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จัก อีกทั้งชาวบ้านที่สามารถทำขนมแต่ละชนิดนี้ได้ก็เหลืออยู่ไม่กี่คน “วา” จึงได้ชักชวนเพื่อนๆของเขาซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่จำนวนกว่า 30 คน ให้ออกมาศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาและฝึกทักษะในการทำขนมพื้นบ้านเหล่านี้ไม่ให้เลือนหายไป
พร้อมทั้งจัดกิจกรรม ณ บริเวณลานมัสยิดบ้านศาลาเม็ง เพื่อชักชวนเด็กและเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียงให้มาร่วมศึกษาเรียนรู้ และช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมขนมพื้นบ้านของชุมชนแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ที่ไม่ได้ทำให้เด็กๆ เกิดความสนใจต่อขนมพื้นบ้านเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ชุมชนหลายคนก็ชื่นชอบและอยากให้มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก
น.ส.นัสรินทร์ หรีมหนก หรือ “นัส” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีพัทลุง เล่าว่า การได้เข้ามาทำงานในโครงการนี้นอกจากทำให้รู้จักขนมแปลกๆ มากขึ้น ยังทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย เช่น กระบวนการทำงานอย่างมีระบบและการทำงานเป็นทีม แล้วก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็คือ การฝึกสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ชุมชน และการเก็บข้อมูลต่างๆ
“เราจะชักชวนน้องๆ จากโรงเรียนบ้านควนประกอบลงไปพื้นที่สำรวจขนมพื้นบ้าน เพื่อที่จะค้นหาว่าในชุมชนของเรานั้นมีขนมอะไรบ้าง อย่างเช่น ขนมจากก็ทำให้เด็กๆ ได้เห็นความเชื่อมโยงว่าในชุมชนของเรามีพื้นที่อยู่ริมคลองและมีต้นจากขึ้นอยู่เราจึงมีขนมชนิดนี้ไว้ทานกันได้” นัสกล่าว
ด้าน “รถ” น.ส.กิตติมา ชุมพรัต นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 3 วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง เล่าว่า เมื่อลงพื้นที่สำรวจขนมพื้นบ้านแล้ว หลังจากนั้นก็จะเอาข้อมูลมาเรียงลำดับความสำคัญ ว่ามีขนมอะไรบ้างที่กำลังจะหายไป หรือขนมอะไรที่ยังพบเจอหากินได้ง่ายในท้องถิ่น เพื่อที่จะได้ร่วมกันหาแนวทางการอนุรักษ์ขนมพื้นบ้านเหล่านี้ให้คงอยู่กับชุมชนของเราต่อไป
“อย่างขนมนิ้ว ขนมมือขนมตีน ขนมสามี หรือขนมอีกหลายๆ อย่างที่เรานำออกมาแสดงในเวทีที่จัดขึ้น แล้วได้รับความสนใจจากคนที่มาร่วมงาน ก็รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำกันขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้ก็มีการพูดคุยกันในทีมว่าอยากที่จะสืบสานและทำงานในเรื่องเหล่านี้ต่อ โดยจะพาเพื่อนๆ หรือน้องๆ ในชุมชนมาเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้านต่างๆ ให้มากขึ้น” รถกล่าว
อย่างในครั้งนี้ “วา” และเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่มาเก็บข้อมูลและเรียนรู้ถึงกระบวนการในการทำขนมพื้นบ้านอย่าง “ขนมตาหยาบ” และ “ขนมค่อมสาคูไส้ถั่วเขียว” ที่นอกจากจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ แล้วพวกเขายังได้ลงมือทำขนมแต่ละชนิดในขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเองอีกด้วย
“การที่เราได้ไปเดินตลาดไปหาซื้อขนมมาทานกันนั้น มันก็ทำให้คนในชุมชนมีความสุขจากการได้ออกไปพบปะพูดคุยกัน หรือเวลานั่งกินกาแฟและกินขนมพื้นบ้านก็ได้พูดคุยกัน ขนมจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน และการที่เราพาเด็กๆ เข้าไปเรียนรู้การทำขนมต่างๆ กับในผู้ใหญ่ในชุมชนก็ทำให้เกิดการลดช่องว่างระหว่างวัยได้ด้วย” นัส และ รถ ช่วยกันอธิบายข้อดีของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา
“สำหรับวันนี้เราพาเพื่อนๆ และน้องๆ พามาเรียนรู้ขนมตาหยาบ แล้วก็ขนมค่อมสาคูไส้ถั่วเขียวอย่าง ขนมตาหยาบ ก็คือหากินได้ยาก เพราะถ้าไม่สำรวจในชุมชนก็แทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่จริงๆ ซึ่งคนในชุมชนก็ยังตกใจด้วยซ้ำว่ามีอยู่ หรือขนมค่อมสาคูที่คนไม่รู้จักและเกือบจะหายไปแล้ว ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ก็คือทำให้คนชุมชนตระหนัก เห็นคุณค่าและความสำคัญของขนมพื้นบ้าน หลายๆ อย่างต้องช่วยกันรีบฟื้นฟูขึ้นมา ทุกคนจะต้องช่วยกันเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการขับเคลื่อนฟื้นฟูแล้วก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ต่อไปข้างหน้า” แกนนำเยาวชนหัวหน้าโครงการฯ ระบุ
การสำรวจและค้นหา “ขนมพื้นบ้าน” ของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านศาลาแม็ง จึงไม่เพียงจะทำให้ขนมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ๆ กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาไปนั้น ได้กลับคืนมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง และยังกลับสร้างพลังแห่งความสุขของสมาชิกทุกคนในชุมชน ในการร่วมแบ่งปันสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นต่อไป.