“เครือข่ายภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด” สานพลังชุมชนร่วมดูแล “มานิ”

“เครือข่ายภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด” สานพลังชุมชนร่วมดูแล “มานิ”

เสริมองค์ความรู้ สร้างสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

กลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” หรือที่คนทั่วในอดีตไปมักเรียกว่า “ซาไก” นั้น ในภาษามลายูแปลว่า “ทาส” ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกการใช้คำนี้ในการเรียกขานกลุ่มคนตัวเล็ก ผมหยิก ผิวคล้ำ ที่อาศัยอยู่ในป่า ล่าสัตว์ด้วยลูกดอก ปลูกเพิงพักด้วยวัสดุธรรมชาติ เพราะคำว่า “มานิ” นั้นแปลว่า “คน” ซึ่งแสดงถึงการมีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิตเฉกเช่นคนปกติทั่วไป

ในประเทศไทย “กลุ่มชาติพันธุ์มานิ” มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล และตรัง ซึ่งในอดีตเป็นป่าดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง และเป็นที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาหลายชั่วอายุคน แต่จากการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ป่าลดน้อยลงไป ส่งผลต่อพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิต้องปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์มานิมีลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไป 3 ลักษณะคือ 1.กลุ่มที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมเคลื่อนย้ายที่อยู่หาของป่าล่าสัตว์ 2.กลุ่มที่ปรับตัวเริ่มตั้งถิ่นฐาน และ 3.กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร

ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มานิแต่ละกลุ่ม ก็จะประสบปัญหาที่แตกต่างกันตามบริบทของความเปลี่ยนแปลง โดย “กลุ่มที่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม” ได้แก่ กลุ่มน้ำตกนกรำ จ.พัทลุง, กลุ่มบ้านไร่ และ กลุ่มบ้านราวปลา จ.สตูล จะมีปัญหาในเรื่องแหล่งอาหารในป่าที่น้อยลง ทำให้ร่างกายขาดแคลนสารอาหาร มีการเคลื่อนย้ายถิ่นบ่อยครั้งส่งผลให้ไม่สามารถจัดการระบบสุขภาวะของชุมชนได้

ในขณะที่ “กลุ่มที่เริ่มปรับตัวตั้งถิ่นฐาน” ได้แก่ กลุ่มน้ำตกบริพัตร จ.สงขลา กลุ่มวังสายทอง, กลุ่มบ้านช่องงับ และ กลุ่มบ้านทุ่งนุ้ย จ.สตูล, กลุ่มเขาหัวสุม จ. ตรัง และ กลุ่มเขาพับผ้า, กลุ่มทุ่งนารี จ.พัทลุง ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนภายนอก จ้างแรงงานราคาถูก แลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่คุ้มราคา ขาดองค์ความรู้ในเรื่องสุขลักษณะ ไม่มีห้องน้ำใช้ การผลิตและบริโภคอาหารไม่ได้คุณภาพ

ส่วน “กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร” ได้แก่ กลุ่มบ้านคลองตง และ กลุ่มบ้านท่าเขา จ.ตรัง ก็จะประสบปัญหาเรื่องการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพราะขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่สามารถพัฒนาระบบการจัดการสาธารณูปโภคของชุมชนได้ มีปัญหาในการจัดการขยะและสุขภาวะของชุมชน

เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม “โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด” จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยโครงการดังกล่าวจะเข้าไปพัฒนาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบเทือกเขาบรรทัด ในการหนุนเสริมและพัฒนาแกนนำหรือผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ และพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงเพื่อยกระดับองค์ความรู้ไปสู่การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนภายนอกกับกลุ่มชาติพันธุ์มานิให้เกิดความเสมอภาคในด้านสิทธิ์ต่างๆ รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ด้วยความเข้าใจในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธ์มานิจำนวน 12 พื้นที่ๆ โครงการได้เข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆ เพราะในปัจจุบันเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในทุกด้านๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ทั้งเรื่องความรู้ การศึกษา อาหาร การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันประคับประคองให้กลุ่มมานิสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้

            “โดยทางโครงการจะเข้าไปสำรวจดูในแต่ละพื้นที่ร่วมกับชุมชนที่มีความคุ้นเคยกับกลุ่มมานิ เพื่อค้นหาประเด็นปัญหาที่สำคัญของแต่ละกลุ่มว่า เรื่องไหนมีความจำเป็น หรือมีความต้องการเป็นลำดับต้นๆ เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือแต่หรือพัฒนาในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการในแต่ละพื้นที่ๆ ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะห้องน้ำ เรื่องสุขอนามัย เรื่องแหล่งอาหาร การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือเรื่องสิทธิ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ ดังนั้นประเด็นในการทำงานแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการพัฒนาเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่กลุ่มมานิอาศัยอยู่ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับมานิ ในการเป็นฐานการทำงานเพื่อพัฒนากลุ่มมานิในพื้นที่ร่วมกัน”

ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการยังระบุอีกว่า ถ้าหากทางโครงการและชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะส่งผลให้สามารถพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์มานิได้ดี เกิดการขยับและพัฒนาในด้านต่างๆ ได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือประเด็นอื่นๆ ที่มีปัญหาในปัจจุบัน เพราะวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์มานิถือว่าเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์

“ดังนั้นในความเป็นคนไทย สิ่งต่างๆ ที่เขาต้องเรียนรู้ เขาต้องได้รับการพัฒนา ถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะถ้าหากปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องเรื่องอื่นๆ คนชุมชนโดยรอบได้ ทั้งเรื่องของสุขภาพ การใช้สารเคมีเพราะขาดความเข้าใจ หรือการตัดไม้ทำลายป่าเพราะไม่รู้เรื่องกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิต้องตกเป็นเหยื่อของสังคมได้” นายอานนท์ สีเพ็ญ กล่าวสรุป.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ