เด็กนักเรียน “โรงเรียนบ้านโคกหาร” สุขภาพดี
เด็กนักเรียน “โรงเรียนบ้านโคกหาร” สุขภาพดี
รับประทาน“ผัก-ผลไม้” ลดเสี่ยงภาวะทุพโภชนาการ
แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งผลิตอาหารของโลก ทว่ายังมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้หมายถึงความขาดแคลนในเรื่องของอาหาร แต่เป็นภาวะที่ร่างกายขาดความสมดุลด้านโภชนาการ ทำให้มีน้ำหนักมากหรือน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต
ที่ โรงเรียนบ้านโคกหาร หมู่ที่ 2 บ้านโคกหาร ตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านโภชนาการในเด็กเล็ก โดยจากการสำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 144 คน เมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีเด็กนักเรียนที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ จำนวน 22 คน โดยขาดความสมดุลด้านโภชนาการ บางคนมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และมีภาวะอ้วนถึง 4 คน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการสำรวจและตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งพบว่า มีเด็กระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 122 คน มีภาวะทุพโภชนาการ 12 คน โดยเป็นเด็กอ้วน 10 คน และพบว่าเด็กนักเรียนมีปัญหากับการกินผักและผลไม้ถึง 60 คน มีเด็กที่ไม่กินผักและผลไม้เลย 10 คน ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนิน โครงการ “เด็กโคกหาร กินเป็นเน้นผักและผลไม้” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“เมื่อได้ข้อมูลและกลุ่มเป้าหมาย โดยการสำรวจเศษอาหารและสอบถามเป็นรายบุคคลพบว่าเด็กเพียงแต่เลือกกินผักบางชนิด ที่ไม่กินผักเลยไม่มี จึงคิดว่าจะเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายใน 60 คนนี้ให้กินผักเพิ่มเป็นร้อยละ 80 จากนั้นก็สร้างทีม สร้างกิจกรรม เพื่อชักชวนให้เด็กๆ เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์โดยหันมากินผักและผลไม้ให้มากขึ้น” ทิพยวรรณ แซ่ตั้น ครูโรงเรียนบ้านโคกหารกล่าว
ครูทิพยวรรณ อธิบายอีกว่า เริ่มแรกได้วางแผน สร้างทีมงาน สร้างแกนนำนักเรียน 10 คน นำมาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ ส่วนหนึ่งเป็นแกนนำจากสภานักเรียนที่มีอยู่ มีหน้าที่สำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารกลางวันของกลุ่มเป้าหมาย โดยตรวจดูเศษอาหารจากถาดอาหารของนักเรียน ขณะเดียวกันก็จัดกิจกรรมร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกหาร นำเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 และประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายให้รับรู้ทั้งโรงเรียน
“เรามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมกินผักผลไม้ การจัดกระจาดผักผลไม้ เล่นเกม และให้ของรางวัลเป็นผลไม้ มีการประกวดเขียนภาพ ระบายสี แต่งเรียงความ ในช่วงปิดเทอมก็จะมีแบบฟอร์มส่งให้ผู้ปกครองเพื่อกำกับให้มีผักผลไม้ในแต่ละมื้ออาหาร นอกจากนี้ยังจัดตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง ดึงชุมชน ผู้ปกครอง ให้นำผัก ผลไม้มาจำหน่าย ในโรงเรียนเพื่อสร้างความน่าสนใจอีกด้วย” ครูทิพวรรณ ระบุ
จากการทำงานในระยะแรก ครูทิพยวรรณ ยอมรับว่าอาจติดขัดเรื่องวัตถุดิบในการนำมาปรุงอาหารอยู่บ้าง เพราะอยู่ไกลจากแหล่งผลิตและจำหน่าย แต่ในโรงเรียนมีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุก ปลูกข้าว ปลูกผักบุ้ง โดยชักชวนผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วย ซึ่งต่อไปจะขยายผลไปสู่การปลูกพืชผักให้มีความหลากหลายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร
ขณะที่ วรรณวิศา ใฝบุญ นักเรียนชั้น ม.3 แกนนำนักเรียนในโครงการนี้ เล่าว่ามีหน้าที่คอยตรวจเช็คหลังรุ่นน้องๆรับประทานอาหารกลางวันเสร็จว่ามีเศษผักเหลือหรือไม่ และยังมีหน้าที่จัดรายการเสียงตามสายให้ความรู้ ประโยชน์ของผักและผลไม้ ตอนพักเที่ยง ทุกวันพุธและพฤหัสบดี
“เรื่องที่นำมาเล่าก็จะเป็นประโยชน์ของการกินผัก ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ แนะนำน้องๆเพื่อนๆให้กินผักจะได้ไม่เจ็บป่วยง่าย”
ทางด้าน ประภัสร์ ชิราพร แม่ครัวประจำโรงอาหารของโรงเรียนกล่าวว่า แต่ละวันจะมีเมนู 2 อย่าง ทั้งรสจืดและรสเผ็ด และมีผักเป็นส่วนประกอบ มีผลไม้เสริม และมีอาหารจานเดียว 1 ครั้ง ในแต่ละสัปดาห์ การปรุงอาหารเป็นไปตามโครงการอาหารกลางวันที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ กำหนดให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ
“พวกผักก็พยายามหั่นผักชิ้นเล็กๆ จะได้กินง่ายๆ เมื่อก่อนถ้ามีผักในเมนูจะเหลือมาก ตอนนี้ดีขึ้น ไม่ค่อยมีแล้ว” แม่ครัวเผยเคล็ดลับที่ทำให้เด็กกินผักง่ายขึ้น
จากการดำเนินงานดำเนิน โครงการเด็กโคกหาร กินเป็นเน้นผักและผลไม้ โดยมีระบบการติดตามผลและตรวจเช็คการรับประทานอาหารมื้อกลางวันของนักเรียนเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการกำหนดตารางการรับประทานอาหารที่เหมาะสมที่ในช่วงปิดภาคเรียนเมื่อเด็กอยู่บ้าน พบว่ากลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 80 หันมารับประทานผักและผลไม้มากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นเพื่อที่จะขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาทุพโภชนาการได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.