เปิดรับข้อเสนอโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป ปี 2566
แนวทางการสนับสนุนทุน
โครงการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป
แผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะเปิดรับโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป (Open Grant) ซึ่งเป็นโครงการด้านการพัฒนาและปฏิบัติการ[1] ที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มบุคคล องค์กร และชุมชนทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการรับทุนสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพโดยเน้นวิธีการดำเนินงาน เทคโนโลยี เครื่องมือ หรืออื่นๆ ที่นำมาใช้ในการดำเนินงานโครงการ มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดการแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ผลดีภายในระยะเวลาของโครงการ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของพื้นที่
ขอเชิญชวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมสุขภาพ |
เพราะ สสส. มีหน้าที่เป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุน ผลักดัน กระตุ้น และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ความรู้นำ ในการแก้ปัญหาสุขภาพที่มีความสลับซับซ้อน การทำงานจึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนในสังคมมาร่วมเป็นเครือข่าย การสนับสนุนโครงการของ สสส. จึงเป็นไปอย่างเปิดกว้าง
หาก “คุณ” เป็นคนหนึ่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ถึงนวัตกรรมใหม่ๆ หรือมีแนวคิดที่เกิดจากความมุ่งหวังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหรือสังคมที่คุณอยู่ ให้มีสุขภาพดี สสส. โดย “สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6)” เปิดโอกาสให้ “ทุกคน” สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยประเด็นหลักที่ สสส.มุ่งสนับสนุน ประกอบด้วย
- การลดอัตราการบริโภคยาสูบ
- การลดอัตราการบริโภคสุราและสิ่งเสพติด
- การเพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารอย่างสมดุล
- การเพิ่มสัดส่วนการมีกิจกรรมทางกาย
- การลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนน
- การเพิ่มสัดส่วนผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์
- การลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
- การเตรียมพร้อมรับปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น
- ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ
ชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง (E-learning) ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ
เพื่อสนับสนุนให้ผู้เสนอโครงการมีความเข้าใจในการนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงผลลัพธ์และตัวชี้วัดผลลัพธ์ การออกแบบกิจกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการเขียนข้อเสนอโครงการให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ และนำไปสู่แนวทางการแก้ไข/เปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาวะ สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) ได้จัดทำชุดเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องการพัฒนาข้อเสนอโครงการ (Project Development) ขึ้นมา โดยสามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน ได้ที่ http://www.edu-opengrant.com/
กระบวนการพิจารณาโครงการ
โครงการที่เสนอเข้ามายัง สสส. เพื่อพิจารณาขอรับการสนับสนุนจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาโครงการ ดังนี้
(1) ขั้นการพัฒนาโครงการ เป็นการวิเคราะห์ว่าโครงการที่ส่งเข้ามาสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวทางการสนับสนุนโครงการของ สสส. หรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของข้อเสนอโครงการ โดยโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาในขั้นนี้จะได้รับแจ้งผ่านระบบบริหารโครงการ (E-granting) ให้ทราบสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณาภายใน30 วัน พร้อมทั้งข้อแนะนำในการปรับปรุงหากต้องการเสนอเข้ามาใหม่ ส่วนโครงการที่ผ่านในขั้นนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
(2) ขั้นกลั่นกรองทางวิชาการ ดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในประเด็นเนื้อหาหลักของโครงการ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ ความสมเหตุสมผลในด้านต่างๆ และประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ รวมถึงความสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นการอนุมัติโครงการ
(3) ขั้นการอนุมัติโครงการ เป็นการพิจารณาจากความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อโครงการ เพื่อประกอบการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนโครงการ โดยทุกโครงการจะได้รับการแจ้งผลการพิจารณาผ่านระบบบริหารโครงการ (E-granting) พร้อมชี้แจงเหตุผลและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการ
(4) ขั้นจัดทำสัญญา โครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้รับการอนุมัติจะได้รับการประสานงานเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สสส. และผู้เสนอโครงการ โดยเมื่อได้รับข้อตกลงโปรดตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง จากนั้นลงนามแล้วส่งต้นฉบับข้อตกลงพร้อมทั้งสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร (หน้าแรก) ของโครงการกลับมายัง สสส. ภายในระยะเวลาที่ระบุในจดหมายนำส่ง
โครงการที่เข้าข่ายการพิจารณา มีรายละเอียดดังนี้
- รายละเอียดโครงการครบถ้วน ระบุสภาพปัญหาของพื้นที่/ชุมชนชัดเจน มีแผนการดำเนินงาน/กิจกรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ พร้อมระบุตัวชี้วัดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการได้อย่างชัดเจน
- งบประมาณที่เสนอไม่เกิน 90,000 บาท (เก้าหมื่นบาท) มีแผนการใช้งบประมาณอย่างประหยัด สมเหตุสมผล หรือมีทรัพยากรสมทบจากองค์กรท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่น
- หากเคยได้รับทุนจาก สสส. ต้องเป็นผู้มีประวัติรับทุนดี และเป็นโครงการต่อยอดหรือขยายผลที่เป็นการยกระดับการดำเนินงาน โดยต้องแสดงเหตุผลหรือข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเพิ่มคุณค่าหรือต่อยอดจากโครงการเดิมอย่างไร
- ผู้เสนอโครงการเป็นกลุ่มบุคคล/หน่วยงาน/องค์กร/ชุมชน ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นผู้มีจิตอาสา (ไม่มีค่าตอบแทนคณะทำงานของโครงการ) ที่ต้องการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา/สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพในพื้นที่ของตนเอง
- เป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ประเด็นสุขภาพ และกลุ่มเป้าหมายที่ สสส. สนับสนุน
- เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินการ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นได้ มีโอกาสที่จะมีความยั่งยืน มีความต่อเนื่อง เมื่อทุนของ สสส. หมดลง
ลักษณะโครงการ/กิจกรรม ค่าใช้จ่าย ที่ สสส. ไม่สนับสนุน |
- องค์กรที่เสนอโครงการ หรือเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตสุราหรือยาสูบหรือสินค้าทำลายสุขภาพ
- หน่วยงานหรือบุคคลที่เคยได้รับทุนจาก สสส. และมีประวัติด่างพร้อยในการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือได้สร้างความเสื่อมเสียแก่ สสส. หรือแก่บุคคลอื่นๆ ในสังคม
- โครงการที่มีจุดมุ่งหมายหรือเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างแจ้งชัด
- โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาทุน หากำไร ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร หรือจัดตั้งกองทุนต่างๆ มุ่งเน้นการตั้งงบประมาณเป็นค่าตอบแทน ให้รางวัล/สิ่งของ หรือจัดซื้อรางวัล
- โครงการด้านการให้บริการในลักษณะสงเคราะห์ เช่น การจัดซื้อยา อุปกรณ์การแพทย์ ตรวจร่างกาย การแจกอาหาร การรักษาพยาบาล หรือให้สวัสดิการช่วยเหลือต่างๆ
- โครงการที่มุ่งจัดหาครุภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ หรือสิ่งก่อสร้าง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ออกกำลังกายราคาแพง การก่อสร้างอาคาร ลานกีฬา การสร้างห้องฟิตเนส ซื้อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- โครงการจัดตั้งสำนักงาน หรือโครงการที่มีเจตนาหารายได้เข้าหน่วยงานเป็นหลัก
- โครงการที่มุ่งเน้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทนของผู้เสนอโครงการและคณะทำงาน หรือค่าใช้จ่ายสำนักงาน
- โครงการที่การดำเนินงานมีเพียงกิจกรรมโดดๆ หรือเป็นกิจกรรมระยะสั้น ที่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การจัดค่าย การจัดอบรม การแข่งขันกีฬา งานอีเว้นท์ การศึกษาดูงาน เป็นต้น
- โครงการที่เป็นงานวิจัย หรืองานประจำของหน่วยงานรัฐ หรือองค์กร หรือชุมชน/พื้นที่ นั้นอยู่แล้ว
- โครงการที่ไม่แจกแจงรายละเอียดงบประมาณแบบราคา/หน่วยในแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจน
- โครงการที่ไม่มีความสอดคล้องกันของหลักการเหตุผล ความสำคัญของปัญหา การวิเคราะห์สถานการณ์ วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดผลลัพธ์ กิจกรรม และงบประมาณ
คำแนะนำสำคัญในการเสนอโครงการ
- ตรวจสอบว่าโครงการของท่านสอดคล้องกับลักษณะโครงการที่เข้าข่ายการสนับสนุนของ สสส. และเสนอรายละเอียดโครงการให้ครบถ้วนและชัดเจนมากที่สุดโดยไม่ปิดบัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา
- สสส.ไม่พิจารณาอนุมัติกิจกรรมย้อนหลัง ในกรณีที่โครงการดำเนินงานไปแล้ว ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
- หากตรวจสอบพบว่าผู้เสนอโครงการไม่ใช่ผู้ดำเนินการจริง สสส.สามารถยุติโครงการได้ทันที
- สสส. ขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาโครงการที่ไม่แจกแจกฐานการคำนวณงบประมาณแบบราคาต่อหน่วย (Unit Cost)
- สสส.ขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาโครงการที่เสนอมาใหม่ หากองค์กรหรือบุคคลนั้นกำลังดำเนินโครงการอยู่กับ สสส.
สามารถยื่นข้อเสนอโครงการผ่านช่องทาง ดังนี้
- เข้าระบบบริหารโครงการโดยตรง https://egranting.thaihealth.or.th/
- เข้าเว็บไซต์ สสส. www.thaihealth.or.th >> ประกาศ >> ประกาศเรื่องทุน
- ⇨ กดยื่นข้อเสนอโครงการออนไลน์สำหรับโครงการใหม่ (ตามภาพประกอบ)
- หมายเหตุ : “เปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านทางออนไลน์เท่านั้น
คู่มือการใช้งานระบบบริหารโครงการ (E-granting)
สามารถดาวน์โหลดคู่มือได้จากระบบบริหารโครงการในหัวข้อ “ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม”
หรือ สแกน QR Code
หรือ สแกน QR Code
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โทรศัพท์: 02-343-1500 ไลน์: @sec6 เว็บไซต์ opengrant.thaihealth.or.th
เฟสบุ๊ค: www.facebook.com/Section6TH
อีเมล: [email protected]