เรียนรู้และอนุรักษ์ ‘ตั๋วเมือง’ อักษรโบราณล้านนาไทย

อย่าปล่อยให้วัฒนธรรม หรือประเพณีของถิ่นฐานบ้านเกิดหายไปตามกาลเวลา มาร่วมสืบทอดวัฒนธรรมด้านภาษา ‘ตั๋วเมือง’ ตัวอักษรหรืออักขระล้านนาโบราณที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ถือได้ว่าเป็นของสูงที่นิยมใช้จดจารึกบันทึกเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่าไว้บนใบลาน หินศิลา หรือกระดาษ ซึ่งในปัจจุบันเรียกได้ว่ามีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่จะรู้จักตั๋วเมือง ทำให้แกนนำเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งจาก อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งรวมตัวกันในนามชมรมกล้าดีศรีลำพูน มีแนวคิดที่อยากจะอนุรักษ์ภาษาล้านนาอันทรงคุณค่านี้เอาไว้ จึงได้ร่วมกับ “โครงการหนุนเสริมศักยภาพและพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน” จัดทำโครงการสืบสานเรียนรู้ตั๋วเมือง อักษรล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั่นเอง

โดยแนวคิดพลิกชุมชนดังกล่าวนี้ พระอาจารย์สมชาย วชิรญาโร จากวัดพระพุทธบาทผาหนาม  ซึ่งเป็นครูผู้สอนตั๋วเมือง ได้เล่าให้แอดฟังว่า

‘ตั๋วเมืองหรืออักษรล้านนาโบราณนั้นปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว จะมีก็แต่คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเท่านั้นที่พอจะรู้จักอยู่ ซึ่งบางคนรู้จักแต่ก็อ่านไม่ออก ส่วนใหญ่จะมีก็แต่ในสายของผู้ที่บวชเรียนเป็นพระภิกษุหรือสามเณรเท่านั้นที่ยังคงมีการสอนภาษาพื้นเมืองนี้ โดยในสมัยก่อนนั้นจะมีการใช้เพื่อสื่อสารและบันทึกข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดีพื้นบ้าน องค์ความรู้ด้านการแพทย์ ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร รวมไปถึงพระคัมภีร์ บทสวด คาถา หรือพระไตรปิฎก

โดยอาจารย์สมชาย วชิรญาโร ยังเล่าต่อถึงการเข้ามาเป็นครูผู้สอนตั๋วเมืองให้แอดฟังว่า เนื่องจากการที่ตนเองมีความรู้ในภาษาดังกล่าว ถ้าได้มาให้ความรู้ต่อ อย่างน้อยก็สามารถทำให้หลายๆ คนอ่านภาษาดังกล่าวออก ซึ่งก็จะมีประโยชน์ในการนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ซึ่งจากการทำโครงการดังกล่าวทำให้เยาวชนและคนชุมชนไม่เพียงแต่ได้ช่วยกันอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมด้านภาษา สร้างความภาคภูมิใจในแผ่นดินถิ่นเกิดให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนทั้งหมดที่ถูกบันทึกไว้ด้วยอักษรล้านนา เพื่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในอดีต ไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในโลกปัจจุบันนั่นเอง สำหรับชุมชนใดที่กำลังหาแนวทางในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมลองนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้กันดูนะคะ โครงการดีๆ ยังมีอีกมากมาย สามารถดูโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3jO1lrv

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ