เรียนรู้-พัฒนาทักษะไม่มีขีดสุด ช่วยเด็กพิเศษยืนได้ในสังคม
เรียนรู้-พัฒนาทักษะไม่มีขีดสุด ช่วยเด็กพิเศษยืนได้ในสังคม
เด็กพิเศษ คือเด็กที่ต้องมีความต้องการพิเศษในการดูแลและส่งเสริมด้านต่างๆ มากกว่าเด็กปกติ ซึ่งนอกจากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด และการส่งเสริมด้านพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง สิ่งสำคัญ คือ การเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตกระจำวัน และการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
PTSC (Pre-Vocational Training For Special Child) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ คือ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กพิเศษ ใน 6 กลุ่ม ได้แก่ ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ ทางการพูดหรือภาษา ความพิการซ้ำซ้อน ออทิสติก ทางร่างกายหรือสุขภาพ และทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและอยุ่ร่วมในสังคมได้ ผ่านกระบวนการอย่างให้ทุกคนได้พัฒนาตนเองจนถึงขีดสุด
“PTSC ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2559 เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านทักษะอาชีพสำหรับเด็กพิเศษ อย่างแรก คือ ทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน และจัดการเรียนการสอนบูรณาการกับอาชีพ ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในความดูแลจำนวน 40 คน โดยที่มีเยอะสุดคือ ออทิสติกและแอลดี” นางอรทัย ปิยะพิเชษฐกุล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ เอ่ยถึงวัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
กิจกรรมประจำวันหลังจากผ่านกิจกรรมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วก็จะแยกย้ายไปสู่ห้องเรียนเพื่อพัฒนาทักษะทางร่างกาย สมองซีกซ้าย ขวา การแก้สถานการณ์ ปรับอารมณ์รู้จัการการรอคอย ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกันได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการจัดทำโครงการการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ โดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมและพัฒนาทักษะในการดำรงชีพต่างๆ เช่นกิจกรรมการปลูกผักปลอดสาร เป็นการพัฒนาและบูรณาการด้านเกษตร ให้เด็กและผ้ปกครองได้มาร่วมกันปลูกผัก โดยสร้างบรรยากาศเหมือนบ้าน เหมือนครอบครัว ผลผลิตก็นำมาบริโภคภายในศูนย์และส่วนหนึ่งก็จำหน่าย
กิจกรรมสองมือน้อย เน้นงานศิลปะ งานประดิษฐ์ เช่น ทำช่อดอกไม้จากผ้าและกระดาษ ซึ่งแม้เป็นงานที่ยากแต่น้องๆ ทุกคนก็มีส่วนร่วมในขั้นตอนที่สามารถทำได้ ทำเสร็จก็นำไปจำหน่ายตามออเออร์ที่มีผู้สั่งไว้
“นอกจากการบ่มเพาะเรื่องอาชีพแล้วสิ่งที่ได้คือ พัฒนาการทางอารมณ์ เมื่อเขาได้อยู่กับธรรมชาติ ได้รดน้ำพรวนดิน เฝ้าดูการเจริญเติบโต ได้หยิบจับสิ่งประดิษฐ์ เขามีความสุข อารมณ์ก็จะเย็นลง ผักไม่จำเป็นต้องสวยงาม สิ่งประดิษฐ์ก็เช่นกัน แต่เราขอให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลัง”นางอรทัย บอกถึงสิ่งที่ได้จากกระบวนการต่างๆ พร้อมทั้งเน้นย้ำสิ่งสำคัญของเด็กพิเศษ ว่า
เหตุที่เราให้มีเด็กมีความรู้เรื่องอาชีพ พเราะเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดชีวิต วิชาความรู้ในห้องมีมากก็ไม่ได้เอาไปใช้ แต่เรื่องอาชีพ และทักษะการช่วยเหลือตนเองสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราพาไปตลาด สอนทักษะการเลือกของ การใช้เงินที่เคาน์เตอร์ หรือแม้แต่ไปธนาคาร ทำเหมือนคนปกติทั่วไป เพราะเด็กพิเศษเขาไม่รู้ตัวตนว่าต้องการอะไร อย่างไร เราจึงต้องเป็นคนใส่กิจกรรมเพื่อช่วยเหลือเขา
นอกจากการเสริมสร้างทักษะต่างๆ ให้เด็กทุกคนได้มีพัฒนาการที่ดีแล้ว การส่งเสริมให้เด็กพิเศษซึ่งมีความสามารถได้ศึกษาต่อสูงสุดเรียนร่วมกับคนปกติได้ โดยได้รับความร่วมมือจาก กศน. ในการมาเปิดศูนย์ให้บริการภายใน ขณะเดียวกันเมื่อเด็กรายไหนมีความพร้อมก็จะส่งเสริมให้เข้าศึกษาต่อระดับชั้น ปวช.-ปวส.
ณัฐพงศ์ รงควิรุตชัย ผอ.กศน.เขตตลิ่งชัน กล่าวถึงการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กพิเศษ ว่า เราจัดการศึกษาให้ทุกคนได้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กพิเศษ เพราะทุกคนมิสิทธิ์เรียนตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เราจึงไม่เลือกปฏิเสธ กระบวนการการเรียนการสอน บางคนเรียนช้า บางคนเร็ว บางคนบกพร่องแค่บางส่วนก็จัดตามความเหมาะสม โดยต้องเอาใจใส่มากกว่าเด็กปกติ ให้ได้เรียนเต็มศักยภาพที่เขามี วันนี้อ่อนล้า เหนื่อยก็ดร็อป วันไหนพร้อมก็ส่งเสริมต่อ เอาผู้เรียนเป็นสำคัญ
เราต้องการให้เด็กอยู่ในสังคมได้ ประกาศนียบัตรเป็นเครื่องการันตีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป้าหมายคือ ให้ทุกคนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รู้จักแยกแยะ ถูกผิด ดีชั่ว
เด็กจะมีพัฒนาการรวดเร็วหรือไม่นั้น นอกจากแหล่งเรียนรู้ แล้วพ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือสิ่งสำคัญ “กลังใจ” ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้น้องๆ
นางชลพัฒน์ คีรีราษฎร์ คุณแม่ของน้องเฟอร์รี่ เป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่เข้าใจและทุ่มเทให้กับลูก ขณะเดียวกันพร้อมช่วยเหลือให้คำแนะนำกับผู้ปกครองรายอื่นๆ
โดยคุณแม่น้องเฟอร์รี่ เล่าถึงการดูแลน้องซึ่งเกิดความผิดปกติตั้งแต่วัย 2 ขวบ ว่า น้องมีการมือเท้าเล็ก กล้ามเนื้อมัดเล็กอ่อนแรง หยิบจับอะไรไม่ได้ พอไปเข้าโรงเรียนก็ต้องมีคนคอยดูแลนั่งประกบคอยจดให้ น้องได้แต่นั่งมองได้แค่นั้น ทำให้เรียนไม่ทัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็เหมือนกับการฝากเลี้ยง เราไม่ต้องการแบบนั้น จึงไปเข้าเรียนโรงเรียนเฉพาะด้านขณะเดียวกันเราก็ค่อยช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เข้าทุกๆ ด้าน ทำกิจกรรมกับเขาบ่อยๆ แม่ทำ ลูกก็ทำตาม เหมือนสายใจ งานก็จะออกมาดี เรามีกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองคอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดูแลเด็กร่วมกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เร็วขึ้น
เด็กพิเศษ มีจะมีความบกพร่อง แต่หากเราให้โอกาสให้เขาได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เขาก็จะสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติเช่นกัน