เศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตนเอง สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง
‘ภูเก็ต กับฉายาไข่มุกแห่งอันดามัน ในมุมหนึ่งอาจจะสื่อไปถึงภาพของชายหาดขาวสะอาด ทะเลเขียวใส นักท่องเที่ยวนานาชาติเดินขวักไขว่ หรืออาจมองเห็นภาพการเป็นจุดเชื่อมต่อของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและเมืองธุรกิจการค้า แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งคือ ภูเก็ตเป็นชุมชนวิถีเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านที่มีชีวิตเรียบง่าย ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม
ชุมชนบ้านยามู ชุมชนวิถีเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต ในอดีตเคยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่เมื่อมีนักลงทุนเข้ามาในชุมชน ทำให้ชาวบ้านหันไปประกอบอาชีพรับจ้างเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ใหญ่ศุภชัย เพิ่มพูน ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และแก้ปัญหา เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น และชุมชนกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง เราไปฟังผู้ใหญ่ศุภชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดการสร้างพลังเศรษฐกิจพอเพียงของชุนชนบ้านยามูกันค่ะ
ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ‘ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว คนในชุมชนจะเลี้ยงปลาในกระชัง ทำประมงพื้นบ้าน หาปู หาปลา และกรีดยาง แต่หลังจากพื้นที่ในหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นโรงแรม มีทัวร์ มีท่าเรือเข้ามา คนก็เลยเปลี่ยนอาชีพไปทำงานในโรงแรมบ้าง วิลล่าบ้าง เรียกว่าร้อยละ 80 เป็นอาชีพรับจ้าง แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวและสังคมตามมา’
จึงตั้งใจจัดทำโครงการ ‘ชุมชนชายฝั่ง สร้างพลังเศรษฐกิจพอเพียง บ้านยามู’ ขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไข โดยได้รับงบประมาณจาก สสส. ในการไปดูงานของชุมชนอื่นๆ เพื่อนำกลับมาปรับใช้ภายในชุมชนต่อไป ซึ่งหลังจากไปดูงานมาพบว่าชาวบ้านได้หันมาดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น หารายได้เสริมด้วยการเลี้ยงปลาในกระชัง ลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวกินเอง ทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสำรวจรายได้กับค่าใช้จ่าย พร้อมกับการตั้งกลุ่มอาชีพ สร้างศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน
ถึงแม้ปัจจุบันโครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างการกำหนดกฎระเบียบชุมชน และการใช้ทรัพยากร เช่น ต้องไม่ตัดไม้ในเชิงธุรกิจ ตัด 1 ต้น ปลูกทดแทน 5 ต้น มีการจัดระเบียบชายฝั่ง แบ่งโซนผู้ประกอบการภายนอกกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างชัดเจน จัดระเบียบการจอดเรือสปีดโบ๊ท ช่วยกันทำความสะอาดชายหาดเดือนละครั้ง เป็นต้น
การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชุมชน และการจัดกิจกรรมต่างๆ นอกจากจะพลิกฟื้นความเป็นอยู่ให้ชาวบ้านแล้วยังทำให้ความเข้มแข็งของชุมชนกลับคืนมา ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านยามู และการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถดำเนินควบคู่กันไปอย่างสมดุลอีกด้วย สำหรับชุมชนไหนที่สนใจ #แนวคิดพลิกชุมชน ดีๆ แบบนี้ ก็ลองนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ดูได้นะคะ