โครงการคนรักสุขภาพดี ชุมชนปลอดบุหรี่ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

สรุปสาระสำคัญ

เป้าหมายของโครงการฯ นี้คือ เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่นในการพัฒนากระบวนการควบคุมการสูบบุหรี่ในชุมชน และจัดกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการดำเนินโครงการควบคุมการสูบบุหรี่ในชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ หนึ่ง เกิดกลไกระดับตำบลที่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานอย่างดีโดยเป็นผลมาจากการที่ รพ.สต.ยะรัง ได้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนมาก่อนสอง เกิดการสร้างมาตรการชุมชนในการดำเนินการควบคุมการสูบบุหรี่ระดับตำบลโดยมี อบต.เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีประชาคม สาม สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในชุมชนลงได้ โดยมีทั้งบุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ถาวร 21 คน (ร้อยละ 1.88 ของผู้สูบ) และคนที่สามารถเลิกได้ 3 เดือน และ 1 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตามอย่างต่อเนื่องของ อสม. และคลินิกช่วยเลิกบุหรี่สัญจร รวมถึงการใช้เครื่องเป่าวัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดที่กระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความกลัว

ปัจจุบัน มีการดำเนินงานต่อเนื่องด้วยการจัดการเรียนการสอนพระคัมภีร์อัลกุรอานในมัสยิดทุกคืนวันจันทร์และวันพฤหัสฯ โดยสอดแทรกเนื้อหาเรื่องพิษภัยของบุหรี่เข้าไปด้วยเพื่อนำไปสู่การเลิกบุหรี่ (นำร่องที่หมู่ 5) โดยสามารถรวมกลุ่มชาวบ้านได้ 40 คน ซึ่งส่วนหนึ่งผ่านการคัดกรองจากโครงการฯ นี้แล้วแต่ยังไม่สามารถเลิกได้

ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้โครงการฯ นี้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มีกลไกและเครื่องมือสนับสนุนการเลิกบุหรี่ที่สามารถให้ข้อมูลความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ มีการทำงานและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลไกสนับสนุนการเลิกสูบ ทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้าน คือ คลินิกเลิกบุหรี่ ใน รพ.สต. กิจกรรมคลินิกสัญจร และ อสม. ในหมู่บ้าน ที่มีความสามารถในการนวดกดจุด มีสมุนไพรช่วยลดความต้องการสูบบุหรี่ และมีความรู้ในการแนะนำผู้เลิกสูบและครอบครัวให้ช่วยสนับสนุนการเลิกสูบได้ และกลไกประชาสัมพันธ์ โดยผู้นำชุมชน และโต๊ะอิหม่าม ใช้ช่องทางของตนสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยตลอด รวมทั้งการใช้เครื่องวัดปริมาณคาร์บอนมอน็อกไซด์ในปอด ที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้ความเสี่ยงการเป็นโรคจากการสูบบุหรี่ได้ และมีทีมสนับสนุนการเลิกสูบที่พร้อมช่วยเหลือตั้งแต่ในครัวเรือน หมู่บ้าน และตำบล ช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบ ไปจนถึงการเลิกสูบ ทุกระดับ

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

ปัจจัยสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ คือ ความตั้งใจเลิกสูบจริงและไม่กลับไปสูบอีก ที่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่ และกลุ่มเสี่ยง ให้ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการใช้เครื่องมือสนับสนุนการเลิกสูบ เช่น เครื่องวัดปริมาณคาร์บอนมอน็อกไซด์ สมุนไพรเลิกบุหรี่ การนวดกดจุด สร้างทีมกระตุ้นในครัวเรือน และหมู่บ้าน ตำบลการให้ความรู้ที่ต่อเนื่องโดยบุคคลที่ชุมชนเชื่อถือ การสร้างกติกา ติดป้ายห้าม-เตือนในสถานที่ และในพื้นที่ต่างๆ  เป็นต้น  ที่สำคัญคือต้องพยายามพัฒนากิจกรรม วิธีการ หรือ เครื่องมือใหม่ ๆ เพิ่มเติม ที่กระตุ้น/สร้างแรงจูงใจให้เลิก รักษาพฤติกรรมการเลิกสูบต่อเนื่อง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ