โครงการคืนคุณค่าให้ขยะ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น จ.เชียงราย

 

โครงการคืนคุณค่าให้ขยะ เป็นโครงการของกลุ่ม พันธุ์ดี ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาขยะในโรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่แกนนำกลุ่มกำลังศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกล่องนม ถุงขนม หรือแก้วน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดจิตสำนึกและองค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง ทางกลุ่มจึงมีความต้องการที่จะพัฒนาจิตสำนึกและการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการจัดการขยะภายในโรงเรียน รวมไปถึงการเล็งเห็นถึงคุณค่าของการแยกขยะและการสร้างมูลค่าให้ขยะแต่ละประเภท

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นโครงการนี้ แกนนำหลายคนจะยังไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตนเองคิดได้อย่างเต็มที่รวมไปถึงยังไม่สามารถจินตนาการถึงการออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและดึงดูดความสนใจของคนในโรงเรียนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดการขยะได้อย่างชัดเจน แต่การเข้าร่วมเวทีพัฒนาองค์ความรู้ การทดลองออกแบบและจัดแต่ละกิจกรรมในโครงการ แกนนำทุกคนต่างก็สามารถออกแบบกิจกรรมที่สร้างความสนใจให้คนในโรงเรียนได้ดีด้วยตนเอง แกนนำทั้ง 5 คน สามารถสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ดี รวมไปถึงยังประสานงานกับทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี โดยในบางเรื่องที่สำคัญอาจยังต้องการการปรึกษาหรือคำแนะนำจากพี่เลี้ยงอยู่บ้าง ในส่วนของกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าในตอนแรกจะดูไม่ให้ความสนใจมากนัก แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของแต่ละกิจกรรมที่ทางกลุ่มพันธุ์ดีจัดทำขึ้นต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการจะพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจและมีพฤติกรรมการขัดแยกขยะมากขึ้นทั้งในระดับบุคคลและในระดังห้องเรียน ทั้งนี้โรงเรียนยังเห็นถึงความสำคัญของโครงการ โดยมีการนำเอาขยะบางส่วนที่คัดแยกแล้วไปส่งต่อให้กับองค์กรภายนอกเพื่อนำไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์ต่อไป

โครงการคืนคุณค่าให้ขยะของกลุ่มพันธุ์ดีมีความน่าสนใจอยู่ 2 ลักษณะ คือกิจกรรมที่เสริมสร้างลักษณะนิสัยและกิจกรรมเกี่ยวกับการรีไซเคิล โดยกิจกรรมเสริมสร้างลักษณะนิสัยอย่างกิจกรรมปรับปรุงจุดคัดแยกขยะและกิจกรรมสร้างเครือข่ายขยายผลเป็นกิจกรรมต่อเนื่องกันที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ในกิจกรรมปรับปรุงจุดแยกขยะ ทางกลุ่มได้ร่วมกับทางโรงเรียนทำการปรับปรุงจุดทิ้งขยะและเพิ่มจุดทิ้งขยะในห้องเรียน 11 จุดและในพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียนอีก 4 จุด เพื่อให้สมาชิกในโรงเรียนสามารถแยกขยะก่อนทิ้งได้อย่างสะดวก และในกิจกรรมสร้างเครือข่ายขยายผล ทางกลุ่มได้ชักชวนสมาชิกจากแต่ละห้องเรียน ห้องละ 5 คน มาเข้าร่วมเป็นแกนนำของห้องในฐานะเครือข่ายของโรงเรียน ร่วมไปถึงการจัดประกวดห้องเรียนสะอาดในทุก ๆ เดือน เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องจากกิจกรรมก่อนหน้า

อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจคือกิจกรรมเกี่ยวกับรีไซเคิล 2 กิจกรรมซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนในโรงเรียนค่อนข้างมาก โดยกิจกรรมแรกคือ กิจกรรม Creative Art Ideas ที่เป็นการทำกิจกรรมฐานทั้งหมด 5 ฐาน เกี่ยวกับการรีไซเคิลและรียูสขยะที่ได้มาจากการแยกขยะในโรงเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย ฐานทำปุ๋ยจากใบไม้และเศษอาหาร ฐานเปเปอร์มาเช่ ฐาน D.I.Y ของใช้จากขวดพลาสติก ฐาน UHT รีไซเคิล ฐานสร้างสรรค์หรรษาจากถุงพลาสติกและหลอดดูด โดยแต่ละฐานไม่เพียงแต่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและการรีไซเคิลแล้ว แต่ยังเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอีกด้วย และกิจกรรมแฟนซีรีไซเคิลซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนแต่ละห้องประดิษฐ์ชุดสร้างสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้หรือขยะที่ผ่านการจัดการทำความสะอาดมาเรียบร้อยแล้ว โดยกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนในโรงเรียนเป็นอย่าง เนื่องจากนักเรียนแต่ละห้องได้มีโอกาสนำความรู้เรื่องการจัดการขยะมาใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน

โครงการคืนคุณค่าให้ขยะของกลุ่มพันธุ์ดีมีการจัดกิจกรรมที่ค่อนข้างโดดเด่นและหลากหลายเนื่องจากพื้นที่จัดกิจกรรมเป็นโรงเรียนและมีกลุ่มเป้าหายที่ชัดเจนอย่างนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลให้สามารถออกแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ได้หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งมาจากการจัดโครงการในพื้นที่โรงเรียนทำให้แต่ละกิจกรรมของกลุ่มได้รับการประชาสัมพันธ์และการสนับสนุนจากโรงเรียนเป็นอย่างดี เนื่องจากโรงเรียนเองก็เห็นถึงความสำคัญของการการจัดการขยะและการสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนในโรงเรียน การเข้ามาของโครงการจึงถือได้ว่าเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการจัดการขยะและการมีนักเรียนที่ตื่นตัวเรื่องการมีส่วนร่วมก็จะช่วยส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถพัฒนานักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนต่อไปร่วมกันได้

จากการจัดโครงการโดยแกนนำที่เป็นนักเรียนเพื่อการจัดการขยะในโรงเรียนถือได้ว่าเป็นแบบอย่างและเป็นแรงกระตุ้นในหมู่นักเรียนด้วยกันได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติของการที่นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอความคิดเห็นของตัวเองและกล้าแสดงออกมาขึ้น และร่วมไปถึงการสร้างลักษณะนิสัยเชิงบวกให้กับนักเรียนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนิสัยในการจัดการขยะ การมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ไม่เพียงแค่สนับสนุนภายใต้โครงการเท่านั้น เพราะโรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็นยังมีแผนการผลักดันโครงการต่อโดยมีการออกแบบแนวทางร่วมกับแกนนำ เพื่อที่จะต่อยอดโครงการภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการจัดการขยะในโรงเรียนอย่างยั่งยืนต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ