โครงการจิตวิญญาณแห่งอาหาร บ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย
บ้านห้วยหินลาดในเป็นชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงรายที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กลางหุบเขา ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตประจำวันของคนในชุมชนจะพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติและป่าไม้เป็นสำคัญมาตั้งแต่อดีต เพราะชาติพันธุ์ปกาเกอะญอมีความเชื่อตั้งแต่เกิดจนตายที่ผูกพันกับป่า ดังนั้นวิถีชีวิตแต่เดิมของคนในชุมชนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติรอบตัว เช่นเดียวกันกับเรื่องของการกินอยู่ ปัจจุบันคนในชุมชนบ้านหินลาดในมีการทำไร่หมุนเวียนและทานอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ตามป่าไม้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต อย่างไรก็ตามชุมชนหินลาดในไม่ได้ปฏิเสธตลาด สินค้าวัตถุดิบจากพื้นราบ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาถึงชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนมีความตั้งใจจะเรียนรู้ ปรับตัว และอยู่ร่วมกับความสมัยใหม่ให้ได้อย่างเข้าใจโดยไม่หลงลืมรากฐานและความเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอของตัวเอง
ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอมีวัฒนธรรมด้านอาหารที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน อาหารของชาวปกาเกอะญอถือว่ามีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต รวมถึงสัมพันธ์กับวิธีประกอบอาหารและแหล่งวัตถุดิบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ปัจจุบันวัฒนธรรมการกินแบบดั่งเดิมยังคงสืบถอดต่อกันมาในชุมชน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของยุคสมัย โดยอาหารแบบดั่งเดิมมักจะมีการทำหรือปรากฏตามประเพณีและพิธีกรรมสำคัญ ๆ ในชุมชนเป็นลัก ซึ่งแกนนำเยาวชนบ้านหินลาดในได้มีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ในชุมชนผ่านการสังเกต สำรวจและสนทนากลุ่มร่วมกับเด็กเยาวชนรวมถึงผู้ปกครองพบว่าเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นมีความรู้เรื่องอาหารชาติพันธุ์กาเกอะญอของตนเองน้อยลง มีการบริโภคและซื้ออาหารทั้งปรุงสำเร็จและวัตถุดิบจากนอกชุมชนที่มีคนนำเข้ามาขายมากขึ้น นอกจากนี้เด็กเยาวชนส่วนใหญ่มีการเข้าไปศึกษาต่อในเมือง ทำให้พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบจากป่า แหล่งอาหารธรรมชาติและวิธีการทำอาหารชาติพันธุ์กาเกอะญอก็ถูกให้ความสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการจิตวิญญาณแห่งอาหาร ที่แกนนำมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงวัตถุดิบ แหล่งที่มาของอาหาร วิธีการทําอาหารชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรมรวมถึงทางสุขภาพจากการบริโภค
โครงการจิตวิญญาณแห่งอาหารมุ่งเน้นการสร้างเสริมองค์ความรู้ในการบริโภคอาหารแบบยั่งยืนโดยเน้นการทำความเข้าใจถึงการเลือกบริโภคแบบทราบแหล่งที่มาของอาหาร การรู้จักวัตถุดิบโดยเน้นสิ่งที่มีอยู่ในป่าชุมชน และการทราบกรรมวิธีในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกเรื่องความเป็นมาของอาหารกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปกาเกอะญอของตนเองร่วมด้วย กิจกรรมถูกออกแบบให้เด็กเยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้วัตถุดิบผ่านการลงพื้นที่สำรวจวัตถุดิบในการประกอบอาหารตามไร่หมุนเวียนและป่านชุมชนก่อนจะนำสิ่งที่ได้มาลงมือทำอาหารชาติพันธุ์พันธุ์ปกาเกอะญอด้วยตัวเองร่วมกับปราชญ์ชุมชน รวมถึงมีการต่อยอดกิจกรรมในลักษณะของการแข่งขันการทำอาหารผ่านการประยุต์อาหารแบบดั่งเดิมให้มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากเด็กเยาวชนจะได้เรียนรู้เรื่องราวจากปราชญ์ชุมชนแล้ว พวกเขายังได้ร่วมสร้างสรรค์เมนูเพื่อนำเสนอให้กับคนในชุมชนได้ชิมและชมอีกด้วย หลังจบกิจกรรมตลอดโครงการเด็กเยาวชน 17 คน จาก 25 คนเกิดความรู้และมีการประยุกต์สิ่งที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารจากพืชและวัตถุดิบที่รู้ที่มาที่ไปมากขึ้น แม้หลาย ๆ ครอบครัวจะไม่ถึงขั้นทำอาหารชาติพันธุ์แบบดั่งเดิมทานในครัวเรือนได้เสมอ แต่ก็มีการให้ความสำคัญกับการประกอบอาหารด้วยตัวเอง ระวังและใส่ใจเรื่องการกินที่สัมพันธ์กับสุขภาพอย่างตื่นตัว
ความน่าสนใจของโครงการจิตวิญญาณแห่งอาหารอีกหนึ่งอย่างก็คือการที่แกนนำเยาวชนมีการนำทักษะในการจัดการข้อมูล การทำสื่อและการสื่อสารเรื่องราวมาผสมผสานกับการดำเนินงาน ผ่านการรวบรวมข้อมูลและจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ ความเป็นมา รวมไปถึงวิธีการทำอาหารชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในชุมชนเพื่อจัดทำเป็นหนังสือแบบรูปเล่มและภาพประกอบ สำหรับนำเสนอเผยแพร่ให้กับปราชญ์ คนในชุมชนและเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ การผสมผสานจุดเด่นแบบสมัยใหม่ที่แกนนำเยาวชนได้เรียนรู้จากสังคมในยุคปัจจุบัน เพื่อมาประยุกต์ใช้กับการรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมที่ชุมชนมีผ่านการจัดทำคู่มือและการสื่อสารถือได้ว่าเป็นการตีโจทย์ที่เหมาะและเข้ากับบริบทของสังคมปัจจุบันตามความต้องการที่ชุมชนอยากจะเรียนรู้ปรับตัวตามยุคสมัย นอกจากนี้ความห่วงใยของคนในชุมชนโดยเฉพาะแกนนำที่เห็นพฤติกรรมการบริโภคอาหารซึ่งเป็นความเสี่ยงและความสำคัญของการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ร่วมกับการนำเอาจุดแข็งในชุมชนที่มีต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนเองอย่างด้านอาหารและทรัพยากรธรรมชาติที่คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่ดั่งเดิมมาออกแบบเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในทุกกิจกรรมถือได้ว่าเป็น เงื่อนไขที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการจิตวิญญาณแห่งอาหาร
เยาวชนบ้านหินลาดใน ไม่ใช่แค่เพียงออกแบบโครงการที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ บริบทสังคมเพียงเท่านั้น แต่การเชื่อมความร่วมมือโดยอาศัยการนำเอาความต้องการของคนต่างรุ่นต่างวัยมาผสมผสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่น่าสนใจของโครงการนี้ บทเรียนสำคัญของบ้านหินลาดในคือการแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้วัดแค่เพียงผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น เพราะแม้ว่าบ้านหินลาดในจะมีความเข้มแข็งในหลาย ๆ ด้านแต่เดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเป็นชุมชนจัดการทั้งทรัพยากรและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แต่การส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสานต่อความเข้มแข็งและความภาคภูมิใจที่ชุมชนมีมาอย่างยาวนาน การรักษาวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงแค่การคงไว้ซึ่งสิ่งเดิมแบบครบถ้วนเสมอไป แต่การนำเอาเรื่องราวที่มีคุณค่า มีความหมายในชุมชนมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่ชุมชนต่างได้เรียนรู้ร่วมกัน โครงการในครั้งนี้ไม่ได้ให้ผลสำเร็จแค่เพียงการสร้างเสริมสุขภาพจากการบริโภคอาหารอย่างถูกหลักและปลอดภัยเพียงเท่านั้น แต่การเรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วม โดยชวนให้เด็กเยาวชนได้ทำความเข้าใจเรื่องราวของอาหาร ตั้งแต่การผลิตและการดูแลแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติแบบพึ่งพิงอาศัย การประกอบอาหารแบบถูกหลักครบหมวดหมู่ และการรับประทานอาหารแบบปลอดภัยรู้แหล่งที่มา รวมถึงสรรพคุณของสิ่งที่กินว่าดีต่อสุขภาพอย่างไร เป็นการให้ข้อมูลสุขภาพที่นำไปสู่การเลือกพฤติกรรมที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างครอบคลุม