โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลกกแรต
สาระสำคัญ
ตำบลกกแรต ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการนี้ มีต้นทุนเรื่องการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยมีการรวมกลุ่มกันปั่นจักรยานเป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์
การทำโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะฯ เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนคนปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งทำงานกับกลุ่มนักเรียนในตำบลกกแรต 3 โรงเรียน และชาวบ้านหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งมีกลุ่มผู้ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพมากที่สุดในตำบล และพบว่า เกิดผลตามเป้าหมาย
กิจกรรมสำคัญในโครงการ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลการใช้จักรยานก่อนและหลังการทำโครงการ การปรับสภาพแวดล้อม และการจัดหาอุปกรณ์ การทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับมากที่สุด ได้แก่ การปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพหรือเพื่อออกกำลังกายในทุกวันเสาร์ตอนเช้าตรู่ ซึ่งมีมาก่อนโครงการ แต่ได้รับการพัฒนาให้เกิดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเป้าหมายและสร้างแรงจูงใจ โดยให้หมู่บ้านต่างๆ ผลักดันเป็นเจ้าภาพ จัดเตรียมเส้นทางที่ขี่จักรยานสะดวกปลอดภัย มีการเลี้ยงของว่าง โดยขอทุนสนับสนุนจาก สปสช.เข้ามาเสริม และแจ้งข่าว ประสานงานโรงเรียน รพ.สต. อสม.เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นชัดเจน
ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ 1) การเลือกพื้นที่ที่มีทุนเดิม พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ทั้งคน พฤติกรรมและสภาพพื้นที่ 2) หนึ่งในสี่ ของคณะทำงานหลัก เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในหน่วยงานรัฐ จึงมีสถานะที่จะขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายได้ 3) กระบวนการสำรวจก่อนปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้จักรยานได้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง 4) มีการกำหนดตัวผู้รับผิดชอบกิจกรรมและขอบเขตภารกิจชัดเจน 5) มีการปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรม ทำให้สามารถทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. การเลือกคณะทำงาน ต้องเลือกคนที่มีศักยภาพในการประสานความร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ หรือมีอิทธิพลทำให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือได้ จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ ที่ต่อเนื่อง
2. การใช้แบบสอบถามรวบรวมข้อมูล ไม่ควรมีจำนวนหน้ามาก และเนื้อหาต้องมีประโยชน์กับวิถีชีวิต และไม่ภาษาที่เข้าใจยาก เพราะกลุ่มเป้าหมายจะไม่อยากตอบ
3. การสนับสนุนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับสภาพแวดล้อม ต้องมีผู้ดูแล เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จริงและทำให้อุปกรณ์มีความพร้อมใช้
4. การติดตั้งป้ายสัญลักษณ์/ป้ายเตือนในพื้นที่ทางหลวง ต้องประสานหน่วยงานก่อนดำเนินการ เพื่อให้สามารถติดตั้งได้ต่อเนื่อง/ถาวร ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทางหลวงเก็บไปจนไม่มีป้ายเตือน
5. การเลือกพื้นที่ดำเนินงาน ที่มีทุนเดิมพร้อมทั้งคน พฤติกรรม สภาพแวดล้อม เป็นหลักประกันความสำเร็จได้มาก แต่ก็อาจจะหาพื้นที่แบบนี้ยากเช่นกัน
6. ต้องทำความเข้าใจเรื่องเป้าหมายเชิงพฤติกรรม ที่แผนงานคาดหวังกับผู้รับผิดชอบโครงการให้ชัดเจน โดยเฉพาะ “การปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน” คืออะไร