โครงการชุมชนน่าอยู่: บ้านศรีหมวดเกล้า ม.4 จ.ลำปาง
โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านศรีหมวดเกล้า หมู่ที่ 4 ตำบลชุมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
ชุมชนศรีหมวดเกล้า 4 ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนขนาดใหญ่เขตเมือง จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 665 หลังคาเรือน มีประชากร 2,059 คน แยกเป็นชาย 983 คน หญิง 1,076 คน พื้นที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองของเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีคลองชลประทานผ่านทางทิศตะวันออกของชุมชน แหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ได้แก่ การประปาภูมิภาค และบ่อน้ำตื้นสูบจากใต้ดิน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในชุมชนมี วัด 1 แห่ง มีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง และมีสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โรงงานลูกชิ้นหมูยอ 2 แห่ง คือ โรงงานอรรถวัฒน์ และโรงงานศิรินทิพย์ โรงน้ำแข็ง 1 แห่ง โรงงานไอศกรีม 1 แห่ง ร้านกาแฟสดและชามุก ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ รวมถึงร้านสะดวกซื้อหลายแห่ง โดยภาพรวมสภาพลักษณะของชุมชนเป็นชุมชนเขตเมืองที่มีความหลากหลาย และสภาพปัญหาที่ซับซ้อน
ชุมชนศรีหมวดเกล้ามีการรวมตัวของกลุ่มแกนนำชุมชนศรีหมวดเกล้า โดยจะมีการประชุมทบทวนผลการทำงานในแต่ละเดือนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อวิเคราะห์หาจุดอ่อน จุดแข็ง แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายสุขภาพทั้งในและนอกชุมชนเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี และทบทวนแผนยุทธศาสตร์ทุกปีในชุมชน ภายในชุมชนมีกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน คลังสะพานบุญ “สุขที่ได้ให้” ของชมรม อสม.ศบส.ศรีหมวดเกล้า กองทุนต้นกล้าน้อย ที่ได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดห้วยหล่อ กองทุนสวัสดิการของชมรม อสม.รพ.สต.ศรีหมวดเกล้า และการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือของคนในชุมชน สำหรับปราชญ์ชาวบ้านของชุมชนมีหลายด้าน ได้แก่ ด้านการแพทย์แผนไทย(หมอเมือง) ด้านการทำอาหารพื้นบ้าน ด้านจักสานไม้ไผ่ ด้านเกษตรอินทรีย์ ด้านศาสนา วัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อ
กลไกสภาผู้นำชุมชน
การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน
การจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน มีการรวมกลุ่มก่อตั้งสภาผู้นำชุมชนเดือนกันยายน ปี 2565 เริ่มก่อตั้งมีสภาผู้นำ 20 คน เดือนธันวาคม ปี 2565 มีสภาผู้นำเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ประกอบด้วย ประธานชุมชน กรรมการชุมชน ผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน พระสงฆ์ จิตอาสา อสม. สภาผู้นำชุมชน มีการประชุมวางแผนการทำงานทุกเดือน การบริหารจัดการขับเคลื่อนโครงการ ได้มีการทำงานร่วมกัน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ออกเป็นฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้อมูล ฝ่ายประเมินผล ฝ่ายกิจกรรม และฝ่ายส่งเสริมอาชีพ ด้านการ บริหารและขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการกระบวนการสำคัญในการสร้างสภาผู้นำชุมชนให้เป็นสภาผู้นำที่เป็นแกนนำในการ พัฒนา คือ การเข้ามาเป็นสมาชิกต้องเข้ามาด้วยความสมัครใจ และมีใจที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทิศทางที่ดีร่วมกัน
ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน
ความรู้ ทักษะที่สภาผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาจากหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ ประกอบด้วย การวางแผนงาน การจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัด การประชุม ARE ต้นไม้ปัญหา บันไดผลลัพธ์ การประเมินความเข้มแข็ง 9 มิติ การสะท้อนผลลัพธ์ตามวงรอบ ARE สภาผู้นำชุมชนมีการแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน มีการติดตามประเมินผลกลุ่มเป้าหมาย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทุกๆ 3 เดือน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมของแกนนำชุมชน การออกแบบสำรวจข้อมูลการบริหารโครงการ และการใช้ข้อมูลชุมชนในการพัฒนาชุมชนโดยจากสภาพการดำเนินงาน
สำหรับความรู้ทักษะที่สภาผู้นำชุมชนควรต้องพัฒนาเพิ่มเติม โดยเป็นสิ่งที่ยังเป็นความต้องการให้สภาผู้นำชุมชนได้มีการเสริมสร้างทักษะเพิ่มเติม เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน ประกอบด้วย
1. เทคนิคการสื่อสาร และการรับรู้ เนื่องจากทีมสภาผู้นำชุมชนน่าอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนจึงเน้นวิธีการที่จะสื่อสารอย่างไรให้เกิดความเข้าใจ สามารถสื่อสารง่าย เกิดความเข้าใจร่วมกัน
2. การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการใช้ข้อมูล จะใช้การเก็บข้อมูลผ่านทางแบบฟอร์ม และมีการรวบรวมข้อมูลผ่านทางการใช้ Google Form ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการรวมข้อมูลรายหมู่บ้าน รวดเร็ว ประหยัดเวลา ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างครบถ้วน
การบริหารจัดการชุมชน
ชุมชนศรีหมวดเกล้ามีการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองทุกๆ 3 ปี เป็นการประชาคมของชุมชนร่วมกับทางเทศบาลเมืองเขลางค์นคร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีหมวดเกล้า เพื่อเป็นการวางแผนการทำงานด้านการจัดการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองเขลางค์นคร โดยจะเป็นประเด็นก็จะมาจากความต้องการของชุมชนว่าชุมชนยังขาดหรือต้องการแก้ไขปัญหาในตรงจุดไหน โดยก่อนกำหนดการประชาคมแผนชุมชนพึ่งตนเอง ประธานชุมชนจะประกาศประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้รับทราบล่วงหน้า 1 อาทิตย์ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้คนในชุมชนได้เสนอความต้องการ และความเดือดร้อนของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขต่อไปได้
การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน
กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เป็นขั้นตอนของการสร้างการมีส่วนร่วมแก่ส่วนต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วย วิธีการสร้างการมีส่วนร่วมกับสภาผู้นำชุมชน วิธีการสร้างการมีส่วน ร่วมกับสมาชิกในชุมชน และวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรภายนอก
1. ขั้นตอนการสร้างการมีส่วนร่วมกับสภาผู้นำชุมชน
- การวางแผนงาน เป้าหมายร่วมกัน
- ความเป็นเจ้าของ
2. ขั้นตอนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกในชุมชน
- แกนนำตัวอย่าง โดยสภาผู้นำชุมชน
- การขยายผล จากการชักชวน
3. ขั้นตอนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรภายนอก
1. สร้างความเข้มแข็ง จัดการตนเอง
2. สร้างผลงาน และแสดงพลังความร่วมมือของคนในชุมชน
3. การเสนอโครงการ / งาน / การบริหารโครงการ
4. ภาคีเครือข่าย การสร้างองค์กร กลุ่ม ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนให้ครอบคลุมทั้งมิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการสร้างองค์กรและทีมงาน จะเป็นการรวบรวมคนที่มีแนวคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ และมีเป้าหมายเดียวกันไว้ด้วยกัน และมีทีมงานที่ก่อตัวเพื่อ สาธารณประโยชน์ของชุมชนในด้านต่างๆ
ความสำเร็จและผลลัพธ์
ผลลัพธ์ความสำเร็จเชิงประเด็นที่กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานผ่านแผนชุมชนที่ปรากฏเด่นชัดได้แก่ เกิดความร่วมมือของสภาผู้นำชุมชนบ้านศรีหมวดเกล้า และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีหมวดเกล้าร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนกลุ่มวัยต่างๆ มีการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมทางกาย150นาที/สัปดาห์ โดยสภาผู้นำชุมชนมีการสำรวจ และเก็บข้อมูล ด้านพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายประกอบไปด้วย แบบบันทึกข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายรายบุคคลของกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มวัยต่างๆ เกิดแกนนำกลุ่มวัยต่างๆ ได้แก่กลุ่มเยาวชน 5 คน กลุ่มวัยแรงงาน 11 คน กลุ่มผู้สูงอายุ 2 คน จำนวนรวม 17 คน และประชาชนกลุ่มวัยต่างๆ จำนวน 389 คน เกิดความเข้าใจ และเห็นความสำคัญการมีกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมตามช่วงวัย ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป จำนวน 467 คน เข้าร่วมกิจกรรมทางกาย ประกอบด้วย การรวมกลุ่มในสถานการณ์ปลอดโควิท-19 รวมกลุ่มมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง และที่บ้านหรือกลุ่มเล็กๆ ในช่วงการระบาดของโควิท-19 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-สิงหาคม2565 รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 238 คน เข้าร่วมกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาที/สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-สิงหาคม 2565 สภาผู้นำชุมชนได้มีการเชื่อมประสานงานระหว่างแผนชุมชนกับรพสต.ศรีหมวดเกล้า เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดโรคที่เกิดจากการไม่มีกิจกรรมทางกาย และจำนวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อลดลง โดยจากเดิมก่อนดำเนินโครงการมีการดำเนินการลงทะเบียนนและสำรวจโดยรพสต.ศรีหมวดเกล้า มีจำนวน 284 คน ปัจจุบัน ณ เดือนกันยายน 2565 มีจำนวน 250 คน
หลักฐานและข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกว่าดำเนินการได้สำเร็จ หลักฐาน/ข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกว่าดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถ บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
- เกิดกลุ่มต่างๆซึ่งเป็นรูปแบบขององค์กรอรูปนัย หรือ องค์กรแบบไม่เป็นทางการ และขับเคลื่อนกิจกรรมได้เอง
- มีแกนนำกิจกรรมทางกายในชุมชน 4 คน
- มีบุคคลต้นแบบที่มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง
- มีครอบครัวต้นแบบที่มรกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง
- คนในชุมชนช่วยกันจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายหลากหลายสถานที่
เงื่อนไขและปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จ
- กิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง หลากหลายรูปแบบ หลายสถานที่ และคนในชุมชนทุกกลุ่มวัยมีส่วนร่วม
- มีบุคคลต้นแบบที่มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ
- กิจกรรมการเก็บ/วิเคราะห์ข้อมูลชุมชน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บ การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ จะช่วยให้ข้อมูลที่จัดเก็บมาเพื่อพัฒนาชุมชนตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อเสริมการพัฒนาชุมชน ในสิ่งที่ ชุมชนคิด ทำได้ภายใต้ข้อมูล บริบท และแผนงานที่ได้วางไว้โดยทั้งนี้กิจกรรมสำคัญยังสามารถแตก ยอดกิจกรรมอื่นๆเพื่อหนุนเสริมกิจกรรมให้บรรลุตามเป้าหมายตามแนวทางและแผนงานที่วางไว้ดังที่ ได้กล่าวในข้างต้น เงื่อนไข
- แกนนำ สภาผู้นำชุมชนน่าอยู่ศรีหมวดเกล้า การมีแกนนำที่ดี เป็นคนที่ชวนคิด ชวน ทำ และเป็นต้นแบบของการทำกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในทุกๆด้าน
- กติกา ระเบียบข้อบังคับถูกออกบังคับในการเข้าร่วมกิจกรรม
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน
การวิเคราะห์ความเข้มแข็งการประเมินความเข้แข็งของชุมชน 9 มิติ
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน โดยใช้ความเข้มแข็งการประเมินความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติ มาใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย
- การมีส่วนร่วม อยู่ในระดับที่ 5 โดยชุมชนศรีหมวดเกล้า มีองค์กรที่มีผู้นำในการบริหารจัดการได้เอง โดยดำเนินการตามแผนชุมชนที่ได้วางไว้
- ผู้นำ อยู่ในระดับ 5 โดยผู้นำสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนได้สำเร็จ ตามแผนมากกว่าร้อยละ 80 ผู้นำองค์กรทุกกลุ่มขับเคลื่อน ตามแผนงานที่กำหนดร่วมกับ สภาผู้นำชุมชนได้สำเร็จ ผู้นนำสามารถทำงานร่วมกับ กลุ่มอื่นๆทั้งในและนอกชุมชน ได้สำเร็จ
- โครงสร้างองค์กร อยู่ในระดับที่ 5 โครงสร้างสภาผู้นำชุมชนมีองค์ประกอบครบทั้งผู้นำที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ และที่มาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ซึ่งการรวมตัว เกิดขึ้นจากผู้นำที่ไม่เป็นทางการโดยมีความหลากหลายกลุ่มองค์กรในชุมชน อีกทั้งยังมีการบริหาร จัดการโดยบูรณาการการทำงานภาคีเครือข่าย
- การประเมินปัญหา อยู่ในระดับที่ 5 ชุมชนมีการออกแบบเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ ข้อมูลได้เอง รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนชุมชนและขับเคลื่อนชุมชนด้วยแผนชุมชนได้ ร้อยละ 80
- การระดมทรัพยากร อยู่ในระดับที่ 5 โดยสามารถใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการ เชื่อมโยงกับองค์กร/ชุมชนอื่นๆ ภายในชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุศรีหมวดเกล้า กลุ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่ม อสม. และกลุ่มกรรมการชุมชน
- การเชื่อมโยงภายนอกอยู่ในระดับที่ 5 การเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก ประกอบด้วย เทศบาลเมืองเขลางค์นคร สาธารณสุขอำเภอเมืองลำปาง สาธารณสุขจังหวัดลำปางจังหวัดลำปาง กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองเขลางค์นคร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง วิทยาลัยพยาบาลบรมมราชชะนีลำปาง ศูนย์บริการสาธารณสุขศรีหมวดเกล้า ชมรม อสม.เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองเขลางค์นคร สถานีตำรวจภูธรเขลางค์นคร สมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง และกศน.ตำบลชมพู
- การถามว่าทำไม อยู่ในระดับที่ 4 การมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ภายใต้ข้อมูลอย่าง รอบด้าน กลุ่มต่างๆในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ และมีบุคคลต้นแบบที่มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก การซักถาม ซักซ้อมความเข้าใจ ส่วนมากจะเป็นการเสนอแนะอย่างสร้างสรร และเป็นค าถามที่ต่อยอดจาก ดังนั้นการวางแผนการทำงานสภาผู้นำชุมชนต้องมีการวางแผนการทำงาน วิเคราะห์สถานการณ์ต้องรอบด้าน และการสื่อสารที่ชัดเจน แผนการทำงานที่เกิดจากสภาผู้นำชุมชน
- ความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยง อยู่ในระดับที่ 4 โดยชุมชนสามารถเชื่อมโยงการทำงานทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้ และชุมชนสามารถจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนได้เอง การปรับแผนการทำงาน มีการประชุมประจำเดือน เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ชุมชน พี่เลี้ยงจะให้คำแนะนำในการดำเนินกิจกรรม เพื่อลดความผิดพลาดน้อยที่สุด
- การบริหารจัดการ อยู่ในระดับที่ 4 โดยสภาผู้นำชุมชนสามาบริหารจัดการ กิจกรรมได้ด้วยตนเองได้ร้อยละ 95 และสามารถออกแบบ จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยชุมชนเอง สภาผู้นำชุมชน มีการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล คืนข้อมูลได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดเวที ARE.ได้ เอง ซึ่งการจัดเวที ARE จำเป็นต้องใช้ทักษะในการสื่อสาร และประสบการในการชวนพูด ชวนคุย ชวนคิด จุดอ่อนที่ชุมชนต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง สภาผู้นำชุมชนบ้านศรีหมวดเกล้า ปัจจุบันมีจำนวน 25 คน เริ่มก่อตั้งมีสภาผู้นำ 20 คน เดือนธันวาคม ปี 2565 มีสภาผู้นำเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ประกอบด้วย ประธานชุมชน กรรมการชุมชน ผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน พระสงฆ์ จิตอาสา อสม. บ้านศรีหมวดเกล้ามีการจัดทำแผนชุมชนและทบแผนชุมชนทุกปี ที่เกิดจาก ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการร่วมกันตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน โดยตัวแทนครัวเรือน ส่วน อสม.ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขก็มีการจัดทำแผนสุขภาพและทบทวนแผนทุกปี โดยตัวแทนคนทุกกลุ่มวัย มีเทศบาลเมืองเขลางค์นครสนับสนุนงบประมาณ เพื่อหนุนเสริมและเติมเต็มในส่วนที่ชุมชนต้องการพัฒนาเพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย วิสัยทัศน์ตามแผนที่คนในชุมชนได้ร่วมกันวางแผนไว้
ข้อค้นพบจากการดำเนินงานในชุมชน การที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเข้มแข็ง คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามา
เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ได้แก่ ไลน์กลุ่ม การติดตามครัวเรือนผ่านระบบออนไลน์ เรื่องเวลาที่ว่างไม่ค่อยตรงกัน ด้วยภาระการทำงานของแต่ละคน
ความสำเร็จตามประเด็นต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัว และหันมาสนใจในการพัฒนาชุมชนของตนเองมากยิ่งขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน นำไปสู่การก่อเกิดความเข้มแข็งในแกนนำหลักของชุมชน เกิดการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และเป็นการจุดประกายให้ผู้นำในระดับต่างๆ ได้รับรู้ถึงบทบาท หน้าที่ที่พึงกระทำในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะชุมชนและการพัฒนาในทิศทางอื่นๆ ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และความน่าอยู่ของชุมชนต่อไป