โครงการฟื้นฟูนาร้างด้วยเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนบ้านเจ๊ะเหม หมู่ที่ 3 ตำบลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

สรุปสาระสำคัญ

โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน และส่งเสริมการทำนาและปลูกผักด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีฐานเดิมมาจากกลุ่มฟื้นฟูนาร้างฯ ที่ตอนแรกรวมกันได้ 13 ครัวเรือน ก่อนจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 28 ครัวเรือนก่อนทำโครงการฯ และจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาเพื่อพลิกฟื้นวิถีการทำนาในชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่นาจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี เพราะคนในชุมชนหันไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยเข้าไปสนับสนุน ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมายปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากหว่านเป็นดำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำปุ๋ยและน้ำยาสมุนไพรไล่แมลงเพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานเรียนรู้ต่างๆ อยู่ในโรงเรียนชาวนาเป็นพื้นที่เปิดให้กลุ่มเป้าหมายเข้าไปเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ในการทำนาอินทรีย์ได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะในช่วงที่ทำกิจกรรมเท่านั้น ทำให้กลุ่มที่เคยทำนาอยู่แล้ว 28 ครัวเรือน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำนาอินทรีย์จำนวน 15 ครัวเรือน และมีครัวเรือนที่ไม่เคยทำนามาก่อนมาทำนาอินทรีย์อีก 2 ครัวเรือน แต่ละครัวเรือนทำนาประมาณ 5-7 ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 ไร่ และ 28 ครัวเรือนนี้จะปลูกผักปลอดสารไว้เป็นหย่อมๆ ตามบริเวณบ้านที่มีพื้นที่บริเวณบ้านครัวเรือนละ1-2 งาน ส่วนการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือนไม่สามารถประเมินผลได้ชัดเจน เพราะไม่มีการทำบัญชี

ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้โครงการฯ นี้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ (1) มีทุนเดิมที่สำคัญคือความต่อเนื่องในการทำงาน ทั้งคณะทำงานที่เกาะกลุ่มทำเรื่องนี้มาหลายปี กลุ่มเป้าหมายคือคนที่ทำอยู่แล้วเป็นหลัก ที่ทำร่วมกันมาต่อเนื่อง จนมีกลุ่มคนทำจริงมีความเชี่ยวชาญ มีฐานการเรียนรู้ ที่สามารถให้ความรู้และให้ดูตัวอย่างได้อยู่บ้างแล้ว และเป็นที่รู้จักของหน่วยงาน และกลุ่ม องค์กรที่ทำงานพัฒนาด้านนี้อยู่ไม่น้อย (2) ใช้แนวทางร่วมทำแบบไม่ผูกมัด ให้โอกาสทุกคนเรียนรู้และทำตามสมัครใจ (3) ใช้ข้อมูล สร้างการแลกเปลี่ยนที่บ่งชี้สถานการณ์ และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยข้อมูลสำคัญคือ ผลการตรวจสารเคมีในเลือด ทำให้มีคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา และการใช้สารเคมีในนาข้าว ตลอดจนเริ่มปลอดผักปลอดสารไว้กินเอง

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1.  มีทุนเดิมที่สำคัญคือ ความต่อเนื่องในการทำงาน

2.  ใช้แนวทางร่วมทำแบบไม่ผูกมัด ให้โอกาสทุกคนเรียนรู้และทำตามสมัครใจ

3.  ใช้ข้อมูล สร้างการแลกเปลี่ยนที่บ่งชี้สถานการณ์ และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยข้อมูลสำคัญคือ ผลการตรวจสารเคมีในเลือด

4.   การสร้างความสนใจเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ศึกษาเรียนรู้รูปธรรมที่เข้าถึงได้ง่ายและหลากหลาย ที่ผู้สนใจสามารถไปศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

5.   การศึกษาดูงาน ที่ไม่มีการศึกษาข้อมูลพื้นที่ ที่จะไปดูงาน ว่าจะสามารถเรียนรู้อะไรมาปรับใช้กับพื้นที่ได้บ้าง อาจทำให้การไปศึกษาดูงานเสียประโยชน์ เพราะนำมาปรับใช้ไม่ได้ หรือได้น้อยเกินไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ