โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในโรงเรียนบ้านหนองพะแนง

สรุปสาระสำคัญ

โครงการได้นำเอาแนวคิด 3D (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) มาพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมของชั้นอนุบาลในโรงเรียน โดยครูได้ร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะกับแผนงาน และนำความรู้มาใช้ในการทำโครงการ เริ่มจากการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมโรงเรียน ชุมชน สภาพครอบครัวเด็กโดยการออกเยี่ยมบ้าน ขอความร่วมมือจากผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู ผู้ปกครอง ชุมชน ระดมกำลังและทรัพยากรปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เป็นพื้นที่ทางกายสำหรับเด็กอนุบาล  มีการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่ประยุกต์จากของพื้นบ้านและสิ่งที่หาง่ายในชุมชน เช่น ของเล่นจากกะลามะพร้าว เครื่องดนตรีจากเมล็ดถั่วเขียว ฯลฯ แล้วนำไปจัดมุมเรียนรู้ให้เด็กเลือกเล่นแบบเสรี  มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปวัฒนธรรม โดยเชิญผู้ปกครอง/คนในชุมชนเป็นวิทยากรสอนเด็กทำขนมพื้นบ้าน ของเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน มีการจัดมุมหนังสือ ให้เด็กแสดงบทบาทสมมติผ่านการแสดงละคร

ผลที่ได้คือเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างสนุกสนาน มีความสุขกับการมาโรงเรียน มีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น  ครูเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กและพยายามปรับตัวให้เข้ากัน สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้และผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กอนุบาลได้ ส่วนผู้ปกครอง/ชุมชนให้ความร่วมมือทำกิจกรรมของชั้นอนุบาลมากขึ้น

ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการ ประกอบด้วย (1) กิจกรรมพัฒนาศักยภาพของแผนงาน ที่ทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเครื่องมือดำเนินงาน เช่น แบบสำรวจข้อมูล แบบประเมินพัฒนาการเด็ก เป็นต้น และการจัดการเอกสารโครงการ ทั้งการเงิน บัญชี และการทำรายงาน ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จให้เรียนรู้ มีเพื่อน-ที่ปรึกษา ตลอดระยะเวลาทำงาน (2) ความตั้งใจจริงของครูแกนนำ ที่แม้มีเพียงคนเดียว แต่พยายามใช้โอกาสที่ต้นสังกัดให้เข้าร่วมโครงการ พยายามเรียนรู้และนำความรู้และเครื่องมือที่ได้มาดำเนินการจริงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มผู้ช่วยสอน การระดมทุนปรับปรุง ศพด. หรือ การช่วยสร้างเครื่องมือ-สื่อการเรียนรู้

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อนำไปขยายผล

1.  การพัฒนาศักยภาพ ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้คนทำโครงการได้ทบทวนความรู้ และมีความเข้าใจแนวทางการทำงานมากขึ้น ด้วยรูปแบบที่หลากหลายผสมผสาน ทั้งการเรียนรู้ทฤษฎี การปฏิบัติ และนำเสนอผลงานและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จึงจะสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงและได้มาก ทั้งการพัฒนาสื่อรูปแบบใหม่ และการประยุกต์ใช้ประสบการณ์พื้นที่อื่น มาปรับใช้ได้เหมาะสมกับพื้นที่ และควรครอบคลุมถึงการพัฒนาการทำงานจัดการด้านเอกสารการเงิน และการทำงานรายงาน ยิ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจในการทำงานได้มากขึ้น

2.  การทำงานภายใต้ข้อจำกัดด้านคน เช่นในโครงการนี้มีครูผู้รับผิดชอบทำงานเพียงคนเดียว ถ้ามีการประสานความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหาร/ต้นสังกัด คณะกรรมการสถานศึกษา จะช่วยสนับสนุนการทำงานได้มาก ทั้งการเพิ่มกำลังคนแบบชั่วคราว หรือรายกิจกรรม ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมหรือสื่อการเรียนรู้เสริมพัฒนาการเด็ก หรืออย่างน้อยบูรณาการกิจกรรมที่เรียนรู้มา ให้เข้ากับภารกิจประจำหรือใช้ทดแทนได้ ก็จะไม่ทำให้เกิดภาระงานเพิ่ม และสามารถขับเคลื่อนโครงการให้ต่อเนื่องได้

Shares:
QR Code :
QR Code