โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างทอง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
สรุปสาระสำคัญ
ชมรมผู้สูงอายุบ้านอ่างทองได้จัดกิจกรรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ๆ ละ 3 วัน และอีก 4 วันให้ผู้สูงอายุทำเองที่บ้าน ทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สุขภาพด้านร่างกายแข็งแรงกว่าเดิม ในขณะเดียวกัน การออกมาทำกิจกรรมกลุ่ม ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน มีความสุข ไม่ต้องเหงาอยู่บ้านตามลำพัง มีการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่ออกจากบ้านไม่สะดวก ทั้งหมดนี้ มีแกนนำ อสม.ที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีตัวแทนกลุ่มแม่บ้านจำนวน 12 คนเป็นทีมสนับสนุน ในโครงการนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงมาให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในวันประชุมสมาชิกของชมรมฯที่จัดขึ้นทุกเดือน ซึ่งในวันประชุมนี้ สมาชิกผู้สูงอายุทุกคนยังจะได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากทีมสนับสนุน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านสุขภาพ และให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคล ส่งผลให้ตลอดทั้งโครงการ สมาชิกผู้สูงอายุจำนวน ร้อยละ 65 ที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมีสุขภาพที่ดี และผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถควบคุมอาการของโรคได้
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. หัวใจสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุคือ การมีกิจกรรมให้ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องดำเนินการดังนี้
- เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำได้ (ทั้งในเรื่องรูปแบบและวิธีการ เช่น ทำที่บ้านได้ หรือรวมกลุ่มทำก็ได้หรือ มีกิจกรรมทางกายแบบนี้นับเป็นการออกกำลังกายได้เป็นต้น) และต้องการทำ เช่น ออกกำลังกาย 3 วันตามตกลงกัน ไปวัดในวันพระ เป็นต้น
- มีผู้นำทำกิจกรรม และ/หรือช่วยเตรียมการให้ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เป็นภาระเรื่องการเตรียมการ เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เองทั้งหมด แค่มาร่วมกิจกรรม หรือช่วยตามสมัครใจ
- มีการแสดงให้เห็นประโยชน์ที่เกิดจากกิจกรรมชัดเจนและต่อเนื่อง เช่น สุขภาพดีขึ้น มีเพื่อนใกล้ชิดมากขึ้น เป็นต้น ผ่านกิจกรรมการตรวจสุขภาพทุกเดือน การรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ
2. สิ่งที่จะทำให้ชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งขึ้นคือการมี “ทีมบริหารจัดการ” ที่ช่วยการจัดการงานเอกสาร การประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ และการเตรียมการทำกิจกรรม ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น อาจเป็นคนในชุมชนที่สนใจ หรือลูกหลานผู้สูงอายุในชุมชนนั้นเอง ก็ได้ และการมี “พี่เลี้ยง” ช่วยให้คำแนะนำแนวทางการจัดกิจกรรมกับทีมบริการจัดการ การประสานการสนับสนุนจากหน่วยงานนอกพื้นที่ ทั้งความรู้ งบประมาณ เครื่องมือ ต่างๆ สนับสนุนการทำกิจกรรมผู้สูงอายุ