
โครงการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้ เพื่อสุขภาพในโรงเรียนบ้านแบ่ง ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา
สรุปสาระสำคัญ
โครงการได้ปรับระบบการจัดทำอาหารกลางวันใหม่ที่บริหารจัดการและควบคุมเองได้เพื่อสามารถดูแลให้เด็กนักเรียนได้กินอาหารที่มีผักมากขึ้นทั้งปริมาณและมีความหลากหลายเพียงพอ โดยมีกิจกรรมสนับสนุนเพื่อเด็กได้ฝึกวินัยในการกินผักและมีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการกินผัก โดยเริ่มตั้งแต่ มีการกำหนดเมนูอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบทุกเมื้อ มีชนิดผักและรสชาติอาหารที่หลากหลาย ให้แม่ครัวเน้นวิธีการปรุงอาหารผักให้เด็กกินง่าย มีครูและแกนนำนักเรียนคอยให้กำลังใจและตรวจสอบการกินอาหารทุกวัน มีช่วงเวลาให้นักเรียนได้ปรับตัวจนเกิดความคุ้นเคยในการกินผัก มีกิจกรรมพิจารณาอาหารประกวดระบายสีและการรณรงค์เรื่องประโยชน์ของผักตลอดช่วงการทำโครงการ ส่งผลให้นักเรียนที่ไม่ชอบและไม่ยอมกินผักที่ประกอบในอาหารกลางวันของโรงเรียนสามารถกินผักได้เพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณและชนิดของผักและผู้ปกครองบางส่วนหันมาให้ความสนใจการปรุงอาหารให้เด็กกินผักที่บ้านมากขึ้น
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. เปลี่ยนระบบจัดการอาหารกลางวันใหม่ ทำให้เอื้อต่อการปรับเมนูอาหาร และเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก
2. แม่ครัวใส่ใจพฤติกรรมการกินเด็ก
3. มีกลไกและแนวทางกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน “ไม่บังคับแต่ขอให้ปรับตัว
4. การจัดการอาหารกลางวัน ที่เอื้อต่อเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก นั้น โรงเรียนต้องเป็นผู้ควบคุมเมนูอาหารและกำกับการทำอาหาร ได้ทั้งกระบวนการ และมีการติดตามผลการกินที่ต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้โครงการนี้ เราได้เห็นระบบการจัดการอาหารกลางวันเพื่อส่งเสริมการกินผักของเด็ก ที่มีบุคคลสำคัญ 3 กลุ่ม ที่รวมตัวเป็นคณะทำงานภายในโรงเรียน คือ ครู แม่ครัว และแกนนำเด็ก และการดำเนินการในโรงเรียนที่น่าสนใจ กล่าวคือ
- เปลี่ยนจากการจ้างเหมาทำอาหารเป็นการรับจ้าง ทำให้มีความคล่องตัวในการปรับเมนูให้สอดคล้องเป้าหมายโครงการและปรับพฤติกรรมการกินของเด็ก และการเลือกคนมาเป็นแม่ครัว
- มีคณะทำงาน รับผิดชอบการคิดเมนู จัดเตรียมอาหาร และติดตามพฤติกรรมการกินให้สอดคล้องเป้าหมายโครงการ จากระบบเดิมที่ให้แม่ครัวจ้างเหมาคิดเองคนเดียวตามใจ และการติดตามการกินอาหารของเด็กรายงานต่อคณะทำงานทุกเดือน/ต่อเนื่อง
- มีการสำรวจความต้องการชนิดอาหารกลางวันจากเด็ก และคณะทำงานจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความพอเพียงทางด้านโภชนาการ
5. ควรมีระยะเวลาปรับตัว เพราะการปรับพฤติกรรมต้องมีการเรียนรู้ระหว่างผู้ต้องการให้ปรับกับผู้ที่ถูกปรับ ซึ่งต้องการช่วงเวลาในการเตรียมตัวปรับพฤติกรรมตนเอง การดำเนินงานในเรื่องนี้จึงต้องให้เวลาทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการเตรียมตัวเอง ก่อนการติดตามผล