โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ชุมชนบ้านไร่ ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
สรุปสาระสำคัญ
โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนได้ปลูกและบริโภคผักปลอดสารพิษในครัวเรือน มีแกนนำเยาวชน บัณฑิตอาสา และ อสม. รวมประมาณ 8 คน เป็นทีมขับเคลื่อนหลัก โดยมีผู้ใหญ่ที่มีบทบาทเป็นแกนนำกลุ่มต่างๆ ช่วยหนุน และมีทีมเสริมที่เป็นสมาชิกสภาเยาวชน อีกประมาณ 20 คน
กระบวนการเน้นการทำงานเชิงรุก เข้าหากลุ่มเป้าหมายถึงบ้าน จนได้รับความไว้วางใจ เกิดความร่วมมือและเห็นผลการเปลี่ยนแปลง คือ กลุ่มเป้าหมาย 142 ครัวเรือนได้ปลูกผักปลอดสารไว้กินเองอย่างน้อย 5 ชนิด ครบทุกครัวเรือน โดยกลุ่มที่ไม่มีพื้นที่ปลูกก็ได้ปลูกในกระถาง กลุ่มที่ปลูกอยู่แล้วก็ทำจริงจังมากขึ้น และกลุ่มที่ปลูกขายมี 21 ครัวเรือนเลิกใช้สารเคมีได้ 1 ครัวเรือนส่วนอีก 20 ครัวเรือนไม่ใช้สารเคมีเฉพาะผักที่ปลูกกินเองส่วนผักที่ปลูกขายยังมีการใช้อยู่ และพบว่ารายจ่ายจากการซื้อผักลดลงจากครัวเรือนละ 500 บาท/เดือน เหลือ 300 บาท/เดือน ความต่อเนื่องในปัจจุบันหลายครัวเรือนยังมีการปลูกผักปลอดสารพิษหลากลายชนิดไว้กินเองไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องคือการใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การมีสภาเยาวชนเป็นกลไกที่ทำงานแบบเชิงรุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและมีวิธีการสร้างแรงจูงใจที่หลากหลาย
ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้โครงการฯ นี้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่
1. มีข้อมูลจากการสำรวจที่กระตุกความสนใจ ทำให้คนเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงได้
2. ทำกิจกรรมอย่างเข้าใจวิถีชุมชน
3. ใช้เยาวชนเป็นกลไกทำงานหลัก
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. แรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม ต้องเป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึกทันทีและมีรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งในโครงการนี้ ที่ชัดเจนคือ การสันทนาการและของรางวัลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นงานโครงการ และข้อมูลค่าใช้จ่ายในการซื้อผักกินที่ได้จากการสำรวจ เปรียบเทียบกับรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ ที่ครัวเรือนทำเองไม่ได้
2. การกระตุ้นพฤติกรรมปลูกผักกินเอง โดยการให้พันธุ์ผักไปปลูก ควรเป็นผักอายุสั้น ที่สามารถใช้เวลาปลูกน้อยก็สามารถเก็บกินได้เลย ซึ่งช่วยลดความจำเป็นที่ต้องใช้สารเคมีด้วย
3. โครงการมีเป้าหมายหนึ่งเรื่องการลดการใช้สารเคมี แต่มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการลดการใช้น้อยมาก และให้น้ำหนักกับการปลูกกินเองมากกว่า ซึ่งหากให้ความสำคัญเรื่องนี้จริง ต้องพยายามคิดกิจกรรมที่สร้างสิ่งทดแทนการใช้สารเคมีได้เองมากขึ้น
4. การเลือกวิทยากรให้ความรู้กับชาวบ้าน นอกจากการเลือกคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ สามารถเล่า-อธิบายให้ชาวบ้านฟังเข้าใจแล้ว ต้องทำความเข้าใจกับวิทยากรถึงเป้าหมายของงาน และการให้ความรู้นี้ เพื่อให้วิทยากรให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ได้ตรงกับความต้องการ