โครงการ การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน หมู่ที่ 8 บ้านหัวขัว ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
สรุปสาระสำคัญ
หมู่ 8 ซึ่งมีพื้นที่ติดถนนทางหลวงซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยว มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกปี ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงได้ทำโครงการการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดตั้งคณะทำงาน 10 คน ซึ่งมาจากคณะกรรมการหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำ และมีผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบต.แม่ใส เป็นพี่เลี้ยง โดยมีการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหาและสำรวจจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อคืนข้อมูลให้กับชุมชน และ อบต. เพื่อขอความร่วมมือช่วยกันจัดการจุดเสี่ยงซึ่งมีทั้งหมด 6 จุด โดยมี 3 จุด ที่ชุมชนสามารถแก้ไขได้เอง (ซึ่งคนในชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดี) และมีอีก 3 จุด ที่ อบต.แม่ใส ได้ประสานความร่วมมือกับแขวงทางหลวงพะเยาเพื่อดำเนินการ หลังจากที่จุดเสี่ยงได้รับการจัดการแล้ว ทำให้ไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง มีเพียงอุบัติเหตุเล็กน้อย 1 ครั้ง เพราะการขับขี่รถเร็ว
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. ข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ที่ถูกทำให้เข้าใจง่ายในรูปตารางสถิติแผนที่จุดเสี่ยงในชุมชน และภาพถ่ายจุดเสี่ยง
2. มีการแก้ไขปัญหาจริง ใน 2 ระดับ คือ ระดับที่ชุดชนทำได้เอง และที่หน่วยงานจัดการให้
3. ได้รับความร่วมมือจาก อบต. ในการแก้ไขปัญหาส่วนที่หน่วยงานต้องจัดการ
4. ข้อมูลที่ชัดเจนทั้งสถิติ ภาพถ่าย แผนที่ และข้อเสนอที่เป็นไปได้ ทำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและจำเป็นต้องแก้ไข และกระตุ้นความร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหา เช่นที่โครงการนี้มีทั้งข้อมูลสถิติอุบัติเหตุย้อนหลัง จุดเสี่ยงและสาเหตุเสี่ยงที่มาจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมและแนวทางแก้ไขที่จะทำโดยชุมชน และที่ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงาน เมื่อเสนอต่อชุมชนก็ได้รับความร่วมมือ เมื่อให้ข้อมูลต่อหน่วยงานๆ ก็ตอบรับเร่งจัดการที่ทำได้ทันที และมีแผนทำต่อเนื่อง รวมถึงประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ด้วย
5. ในประเด็นงานที่ชุมชนไม่คุ้นเคย หรือมีประสบการณ์ในการปฏิบัติ พี่เลี้ยงมีความสำคัญมาก ในการให้คำแนะนำแนวทางและวิธีการดำเนินงาน และสร้างความมั่นใจว่าทำได้จริงให้คณะทำงานและคนในชุมชนเช่นที่โครงการนี้ มีคุณลออ เป็นพี่เลี้ยง ช่วยให้แนวทางและผลักดัน คณะทำงานดำเนินการทั้งการแนะนำเรื่องการวางแผนงาน การดำเนินกิจกรรม ประสานกับ อบต. ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คณะทำงานได้มาก