โครงการ การลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนซอยโจ๊ก

สรุปสาระสำคัญ

โครงการนี้ต้องการแก้ปัญหาการดื่มเหล้าของคนในชุมชน โดยรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานประเพณี วิธีการคือ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อน ทำหน้าที่สำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และข้อมูลการดื่มเหล้าของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนจริง โดยสำรวจติดตามเป็นระยะ เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผน/ประเมินผลการดำเนินงานแต่ละช่วง  มีการกำหนดพื้นที่และงานประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้  และมีการรณรงค์สร้างกระแสอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญวันสงกรานต์ การจัดงานวันเด็กแบบปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กิจกรรมวันพระใหญ่งดดื่ม งดขายเหล้าเบียร์ เป็นต้น โดยมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น การติดป้าย การประกาศเสียงตามสาย การให้คณะทำงานช่วยสื่อสาร การเดินรณรงค์ ฯลฯ  จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนคือ มีการลด ละ เลิกเลี้ยงเครื่องดื่มในงานบุญงานประเพณี ทั้งงานที่ชุมชนเป็นเจ้าภาพร่วมกันและงานที่จัดโดยส่วนตัว  และยังพบว่าทำให้คนในชุมชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกการดื่มเหล้าได้ด้วย

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1.  การสำรวจข้อมูลการดื่มและค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มดื่มแอลกอฮอล์ในงานระดับครัวเรือนที่ต่อเนื่อง และรายานผลการสำรวจผ่านช่องทางสื่อสารในชุมชนทุกครั้ง

2.  แกนนำเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนและให้การยอมรับในความเป็นผู้มีจิตอาสา และเข้าถึงคนในชุมชน

3.  การทำโครงการในพื้นที่ชุมชนแออัด ที่มีผู้คนเข้าออกอยู่บ่อย และมีความผูกพันในฐานะชุมชนไม่มาก การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงต่างๆ ทั้งของชุมชน และของครัวเรือน จำเป็นต้องหาสิ่งจูงใจหรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้อยากเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม และทำอย่างต่อเนื่อง ที่มีอิทธิพลมากกว่าการมีกติกาชุมชน (เพราะคนไม่ค่อยผูกพันเป็นชุมชน) หรือมั่นคงกว่าการใช้สายสัมพันธ์ การรู้จักหรือยอมรับ หรือการประชาสัมพันธ์แบบทั่วไป (เพราะไม่ทำให้ยอมเข้าร่วมกิจกรรมได้ หรือคนเข้าร่วมกิจกรรมมาก)  ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่าย อาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งได้ แต่ก็น่าจะต้องพัฒนากิจกรรมเสริมแรง ให้รับรู้และปฏิบัติกันมาก และลงไปถึงพฤติกรรมบุคคล จึงจะเห็นผลได้ชัด

4.  จากปัญหากลุ่มนักดื่มจะเข้ามาร่วมกิจกรรมค่อนข้างน้อย วิธีหนึ่งในการแก้ไขคือให้คณะทำงานออกไปชักชวนเยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นนักดื่มหน้าใหม่เข้ามาร่วม ส่วนนักดื่มหน้าเก่าที่เป็นวัยผู้ใหญ่ก็ใช้วิธีเข้าไปพูดคุยที่บ้าน เพื่อชักชวนให้ลดละการดื่มลงบ้าง

Shares:
QR Code :
QR Code