โครงการ “จักรยานเพื่อสุขภาวะ ตำบลตาขัน”
สรุปสาระสำคัญ
โครงการได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนให้มีการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักการ “ทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น” ไม่ว่าจะเป็น (1) การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือมุ่งทำงานกับกลุ่มคนที่มีรถจักรยานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ซึ่งมีรูปแบบการใช้จักรยานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการไปโรงเรียน ไปตลาด ออกกำลังกาย ไปธุระระยะใกล้ เพื่อให้แต่ละกลุ่มใช้จักรยานเพิ่มขึ้นและกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ให้นำมาใช้ ด้วยการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย (2) การปรับสภาพพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้วยการตัดต้นไม้ ติดป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เนื่องจากถนนในชุมชนมีทางจักรยานอยู่แล้ว (3) มีกิจกรรมช่วยกระตุ้นความอยากปั่น และจัดหาคนต้นแบบมาสร้างแรงบันดาล แนะนำ ซ่อมรถ เพื่อให้คนเอาจักรยานออกมาใช้
นอกจากนี้ ยังเกิดนวัตกรรม “ปั่นมาลดให้” อันเป็นความร่วมมือจากร้านค้าในชุมชน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปั่นจักรยานซึ่งยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันแม้ปิดโครงการไปแล้ว
ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ (1) กิจกรรมที่ทำ ทำให้เกิดความร่วมมือ คือกิจกรรมที่เห็นประโยชน์ทันที และกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการ (2) แบบสำรวจที่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความร่วมมือในการทำกิจกรรม (3) ปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามความต้องการที่ชาวบ้านเสนอ ทำให้ความร่วมมือ และเกิดความมั่นใจในการใช้จักรยานมากขึ้น (4) วิทยากรมีความน่าเชื่อถือด้วยประสบการณ์และบทบาทภารกิจที่ชาวบ้านรับรู้หรือเกี่ยวข้องด้วย
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. ทุนเดิมในพื้นที่ดำเนินงาน ที่เอื้อต่อการงานส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
- เป็นพื้นที่ๆ มีประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานรัฐต่อเนื่องทั้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาร่วมกับหน่วยงาน
- มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม มีเส้นทางถนนในชุมชนที่คนใช้อยู่เป็นปรกติในการเดินทางเช่นไปโรงเรียน ไปวัด ทำให้คิดถึงความปลอดภัยในการเดินทางบนถนนหนทาง หรือความเสี่ยงในอุบัติเหตุ ที่โครงการฯ ใช้เป็นเชิญชวนให้ร่วมมือได้
- มีการใช้จักรยานเป็นปรกติ เช่น ซื้ออาหาร ไปเรียน ไปวัด เป็นต้น มีความคุ้นเคยกับการใช้จักรยาน
- มีกลุ่มปั่นจักรยานอยู่ในชุมชน จะเป็นในรูปการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการเช่นปั่นออกกำลังกายร่วมกันเป็นประจำก็ได้
- มีแนวโน้มการใช้มอเตอร์ไซค์มากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุในชุมชน ทำให้มีประเด็นพูดคุยให้หันมาใช้จักรยานเพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มเติม
2. การตั้งคณะทำงาน ที่เน้นให้มีภาคส่วนต่างๆ มาร่วม มากกว่าความสัมพันธ์หรือประสบการณ์ทำงานร่วมกัน ส่งผลต่อความเชื่อถือและเชื่อมั่นในความคิด แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทีมงานที่ขาดตำแหน่งหน้าที่ที่สูงพอที่คนในคณะทำงานจะเชื่อถือ เช่นกรณีการเสนอให้เปลี่ยนจากการให้พวงหรีดในงานศพเป็นให้จักรยานแทน เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ ที่ถูกหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีตำแหน่งสูงกว่า อาวุโสกว่าปฏิเสธจนดำเนินการไม่ได้
3. การใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือทำงานคำถามสำคัญคือความต้องการของชุมชนต่อประเด็นงานโครงการ ที่สามารถใช้เป็นวางแผนการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ จึงจะทำให้ได้ความร่วมมือในการทำงานในกิจกรรมอื่นๆ ต่อไปได้ ขณะที่การได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เช่น จำนวนคนที่ปั่น กลุ่มที่ปั่น รูปแบบการปั่น เป็นต้น ใช้ได้เพียงแค่เป็นข้อมูลพื้นฐานชุมชนเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มหรือรูปแบบการปั่นที่เฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจากชุดโครงการ ฯ มีแผนกิจกรรมที่กำหนดไว้หมดแล้วปรับเปลี่ยนได้ยาก
4. การติดตั้งป้ายเตือน ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้จักรยานบนถนน ต้องตั้งที่จุดเริ่มต้นของความเสี่ยง เพื่อเตือนคนที่จะสร้างความเสี่ยงให้รู้ล่วงหน้า และเพิ่มความมั่นใจให้คนใช้จักรยาน ที่เห็นการเตือนในจุดเริ่มต้นเสี่ยงที่ชัดเจน
5. กลุ่มเป้าหมายที่ควรโฟกัส คือคนที่ใช้อยู่แล้ว และคนที่มีแต่ไม่ใช้ เพราะมีทุนเดิมที่พร้อมใช้คือจักรยาน ไม่ต้องลงทุนหาจักรยานมาปั่น แค่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สร้างความมั่นใจในการปั่นอย่างปลอดภัย และการซ่อมบำรุง
6. การเพิ่มบทบาทจักรยานในกิจกรรมปรกติของชุมชนแต่ทำนานๆ ที เช่นปีละครั้งแบบการปรลูกป่าประจำปี ทำช่วยได้เพียงการทำให้คนเห็นประโยชน์มากขึ้น แต่อาจไม่กระตุ้นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพราะนานๆ ทำที