โครงการ “ เฮียนฮู้ใบลานเมืองอุบล สืบฮอยตา วาฮอยปู่อย่างสร้างสรรค์”
“พี่น้องเอ้ย…ไผอยากได้ความฮู้..ให้ไปแก้ซิ่นอยู่ในวัด”
..คำนี้ เป็นปริศนาธรรม ของภาคอีสานที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ และมีผู้ใหญ่ในวงการพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงอยู่เป็นปกติ เป็นเรื่องที่ไม่แปลก แต่ที่น่าแปลก คือ มันถูกเอ่ยขึ้นจากปากเยาวชนที่อายุเพียง 19 ปี ในเวทีเทศกาลเรียนรู้ของโครงการอุบลฯ Young สร้างสรรค์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป
โครงการมีทั้งหมด 30 โครงการ มีแต่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ แต่ใครจะคิดว่า จะมีโครงการ ที่น้อยคนจะรู้จักและเห็นความสำคัญอย่าง โครงการ “ เฮียนฮู้ ” ใบลานเมืองอุบล สืบฮอยตา วาฮอยปู่ อย่างสร้างสรรค์” ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอกสารคัมภีร์ใบลานให้กับเด็กและเยาวชน และเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตัวอักษรไทน้อยเพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน ทักษะด้านการสื่อสาร และทักษะการแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม มีความสุขในการทำงาน มีความผูกพันกับองค์กร มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน
สำหรับใบลานในภาคอีสานได้ถูกจารด้วยตัวอักษร 3 แบบคือ ธรรมอีสาน ขอม และไทยน้อย ซึ่งแต่ละแบบมีรายละเอียดแตกต่างกันไป และจำเป็นต้องมีการเรียนภาษาโดยตรง จึงจะอ่านออก “ลาน” เป็นชื่อพรรณไม้ลำต้นเดี่ยวตระกูลปาล์ม พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ถูกใช้เป็นสมุดบันทึกในช่วงสมัยที่ยังไม่มีกระดาษ คัมภีร์ใบลานถูกจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกคำสอนทางศาสนา วรรณกรรม โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ตำรายารักษาโรค ตลอดถึงองค์ความรู้ต่างๆ ในสมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เป็นที่เก็บรักษาตำราและคัมภีร์ใบลานที่จารึกคัมภีร์ทางศาสนาพุทธด้วยอักษรธรรม ซึ่งเป็นตัวอักษรโบราณ แต่ถ้าเป็นงานวรรณคดีด้านวรรณกรรมจะจารึกด้วยตัวอักษรไทยน้อย นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้าน กฎหมายและตำรายา” มีการค้นพบคัมภีร์ต่างๆที่เป็นอักษรไทยน้อยเกือบทุกพื้นที่ในภาคอีสานและพบมากในจังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้จากการมีหอไตรที่อุบลราชธานี ที่มีจำนวนมากอีกทั้งจังหวัดอุบลราชธานีนั้นเป็นชุมชนอพยพของชาวลาวที่มาทำนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จากความเชื่อมโยงนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการของน้องๆ ตั้งใจอยากกิจกรรมในการสืบสานอนุรักษ์ใบลาน
กิจกรรมที่น้องๆทำ แค่ฟังจากว่าจะต้องมาอนุรักษ์วัฒนธรรม เดาเนื้อหาก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนุกตื่นเต้นอะไร แต่น้องๆได้ออกแบบกิจกรรมได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น
“เปิดโลกใบลาน” ที่มีวิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี ที่มาเล่าถึงระบบการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี และพัฒนาการของคัมภีร์ใบลาน ทำกิจกรรมแล้ว แถมยังมีผู้ปกครองที่เข้ามาฟังด้วยได้ร่วมสนับสนุนเป็นเงินจำนวน 110 บาท ในการจัดกิจกรรมด้วย อาจจะไม่มาก แต่อย่างน้อยก็เริ่มมีคนเห็นความสำคัญ
“สืบสานฮอยจาร” ที่ว่าด้วยการเปิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ ประวัติความเป็นมาของอักษรไทยน้อย และฝึกปฏิบัติการเขียนด้วย และกิจกรรมนี้จะขาดไม่ได้เลย“กระบวนการผลิตใบลาน มีทั้งการเรียนรู้กระบวนการผลิตใบลาน และ ฝึกปฏิบัติการผลิตใบลาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ฐาน คือ
1) ฐานอนุรักษ์ต้นลาน
2) ฐานหอไตรรักษาลาน
3) ฐานกระบวนการผลิตใบลาน
“จารลานอย่างสร้างสรรค์” กระบวนการจารใบลาน และลงมือฝึกปฏิบัติการเขียนตัวอักษรไทน้อยลงบนใบลานจริง พอทำแล้วมีผลงานแล้วก็มีการจัดนิทรรศการแหล่งเรียนรู้ “เฮียนฮู้ใบลาน เมืองอุบลราชธานี” ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เพื่อจุดประกายและสร้างการรับรู้ในวงกว้างในงานพิธีของทางวัดซึ่งมีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาเรียนรู้ และเป็นการที่น้องๆได้ฝึกการนำเสนอไปในตัวด้วย
และสุดท้ายที่ปริศนาธรรมดังค่ำที่ว่า “อยากได้ความรู้ให้ไปแก้ซิ่นอยู่วัด” คือ การใช้ผ้าซิ่นหรือผ้าที่ดีที่สุด เพื่อไปห่อคำภีร์ใบลาน ให้พระธรรมคำสอนคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน น้องๆยังได้ฝึกการห่อพระคำภีร์ด้วยผ้าไหมราคาแพง การขยายความ ทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาคัมภีร์ใบลาน ความสำคัญของคัมภีร์ใบลาน สาธิตกระบวนการทำคัมภีร์ใบลานและการจัดเก็บคัมภีร์ใบลานซึ่งการมัดก็ไม่ใช่การมัดแบบธรรมดาทั่วไป มีวิธีการที่ซับซ้อน เทคนิควิธีการการผูกที่แน่นหนา มีความหมาย แต่สามารถกระตุกปมแค่ครั้งเดียวก็สามารถที่จะเปิดคัมภีร์ศึกษาเนื้อหาด้านในได้อย่างง่ายดาย กับศัพท์แสงที่ไม่เคยได้ยิน เช่น การผูกแบบตรีนิสิงเห แค่คีย์เวิร์ดเดียว ก็ไล่อ่านในกูเกิลได้เป็นวันๆ
“ได้ฝึกเขียนตัวอักษรไทน้อยและสามารถจำแนกแยกแยะความแตกต่างของอักษรไทน้อยและพยัญชนะไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน สามารถเขียนชื่อตนเองได้ด้วยอักษรไทน้อย”
“คุณค่าของการเรียนรู้คือได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาให้มีอยู่สืบไป คุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเององค์กรเกิดการตระหนักในมรดกอันมีค่า สิ่งที่จะทำต่อไปคือการได้จัดเผยแพร่องค์ความรู้นี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นต่อไป”
“โครงการทำใบลาน ณ วัดมณีวนาราม(วัดป่าน้อย) เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของที่มีคุณค่าที่สืบกันมานาน โดยการใช้อักษรไทน้อยในการจารึกใบลาน ในการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของคนในสมัยก่อน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การเข้าใจในใบลานของกลุ่มเยาวชนหรือผู้ที่สนใจในการอนุรักษ์ใบลาน และสามารถถ่ายทอดการจารึกอักษรไทน้อยให้แก่คนรุ่นหลังได้ ทั้งยังได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาในการทำใบลานร่วมกับบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถอย่างเชี่ยวชาญในการทำใบลาน จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องใบลานหรืออักษรไทน้อยมาก่อน ก็ได้เรียนรู้และเข้าใจในการใช้อักษรไทน้อย และเพื่ออนุรักษ์เก็บรักษาในการทำใบลาน”