“ไบไซเคิลทัวร์” นวัตกรรมสานสุขภาวะ ‘ชุมชนควนโต๊ะเหลง’

“ไบไซเคิลทัวร์” นวัตกรรมสานสุขภาวะ ‘ชุมชนควนโต๊ะเหลง’

ชวนเยาวชนร่วมเรียนรู้ “ข้อมูลท้องถิ่น” เสริมพลังชุมชนน่าอยู่

วันนี้คนไทยในสังคมเกษตรกรรมจำนวนมากกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา “สุขภาพ” ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ประกอบกับกระแสทุนนิยมต่างๆ ที่มุ่งเน้นความง่าย รวดเร็ว และสะดวกสบาย ปุ๋ยยาและสารเคมีจึงถูกถมใส่เข้าไปในปัจจัยการผลิต โดยไม่ทันคิดว่าผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้นั้นอาจจะไม่คุ้มค่าต่อทั้งตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคในระยะยาว

บ้านควรโต๊ะเหลง หมู่ 4 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซ้ำยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงจากค่าปุ๋ยและสารเคมีแบบผ่อนส่ง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปนิยมการซื้อวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชผักต่างๆ มากกว่าปลูกเองทั้งที่สามารถทำได้ จนส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน และปัญหาสุขภาพตามมา

“ย้อนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม” จึงเป็นแนวคิดของชุมชนแห่งนี้เพื่อที่จะหลุดพ้นออกจากวังวนของปัญหาการทำการเกษตรและปัญหาสุขภาพ “โครงการหมู่บ้านสีเขียว ปลอดโรค ปลอดสารเคมี ด้วยแนวทางเกษตรอินทรีย์” จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่สมาชิกในชุมชน เพื่อสร้างหมู่บ้านสีเขียวที่น่าอยู่ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายดนรอหมาน ตาเดอิน ผู้รับผิดชอบโครงการเปิดเผยว่า จากข้อมูลของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน(อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลควนโดน พบว่าคนในชุมชนมีปัญหาสุขภาพทั้งโรคอ้วน ความดัน เบาหวานฯลฯ และมีปัญหาสำคัญคือเรื่องของการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร

 “จากการตรวจเลือดพบมีสารเคมีตกค้างเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นราบลุ่มมีน้ำท่วมเป็นประจำ สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตรก็ไหลลงไปในน้ำทำให้คนในชุมชนเป็นโรคผิวหนังกันเยอะมาก แม้กระทั่งสัตว์น้ำยังเป็นแผลเต็มตัวเพราะสารเคมีที่ปนเปื้อนลงไปในคูคลอง จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหาของสารเคมีได้ส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ทางออกของชุมชนคือต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการทำเกษตรอินทรีย์”

โดยคณะทำงานได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนากลไกการทำงานในพื้นที่ๆ ประกอบไปด้วย กลุ่มแม่บ้าน เด็กและเยาวชน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน มีการลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ  ทั้งปัญหาสุขภาพ รายรับ รายจ่าย ภาวะหนี้สินของคนในชุมชน มีการกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อดูแลสุขภาพของคนในชุมชน มีกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่นการออกกำลังกาย ลดอาหารหวาน มันเค็ม เน้นการกินปลาผักและผลไม้ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบเพื่อชักชวนคนในชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และความพอเพียง ลด ละเลิกสารเคมี

ซึ่งจากการใช้จักรยานเพื่อจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ของชุมชน ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวได้เกิดการรวมตัวและต่อยอดไปสู่กิจกรรม “ไบไซเคิลทัวร์” ที่นอกจากจะใช้การขี่จักรยานเพื่อเก็บข้อมูลแล้ว ยังถือโอกาสนี้ได้ออกกำลังกายควบคู่ไปกับเรียนรู้ชุมชนผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ “ศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของเกษตรกรต้นแบบ “นายวาเศษ ตาเดอิน” เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับไปทดลองปฏิบัติที่บ้าน ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการทำให้ครอบครัวของแกนนำเยาวชน และคนชุมชนได้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตไปสู่ความพอเพียงและเป็นชุมชนสีเขียวตามที่ต้องการ

ด.ญ.อนุตตรีย์ หวังกุลำ หรือ “อนุต” หนึ่งในแกนนำเยาวชนบอกว่า เส้นทางไบไซเคิลทัวร์จะมีจุดเริ่มต้นที่ “โรงเรียนเกษตรกรข้าวในพระราชดำริ” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทำนา หลังจากนั้นแต่ละคนก็จะแบ่งกันไปตามพื้นที่ๆ ตัวเองรับผิดชอบเพื่อไปเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุขของชุมชน

“เมื่อได้ข้อมูลก็จะนำไปส่งให้กับพี่ๆ อสม.เพื่อคัดแยกข้อมูลต่างๆ นำมาทำงานตรงนี้ทำให้เรารู้ว่าในชุมชนเรามีอาชีพอะไรบ้าง และมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งการลงสำรวจในครัวเรือนทำให้เราได้รู้จักกับคนในชุมชนมากขึ้น ที่สำคัญการปั่นจักรยานยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว”

เช่นเดียวกับ ด.ญ.ฮานีฟ๊ะฮ์ หมาดรา หรือ “นีฟ๊ะฮ์” เล่าว่ามีหน้าที่ขี่จักรยานออกไปติดตามเยี่ยมเยียนผู้ป่วยในชุมชนร่วมกับพี่ๆ อสม. มีบ้านที่รับผิดชอบประมาณ 20 ครัวเรือน

“จะนัดกันเดือนละ 1-2 ครั้งเพื่อไปสำรวจข้อมูลต่างๆ เช่น การใช้สารเคมีในการทำเกษตร หรือบางครั้งไปสอบถามเรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่นการกิน เค็ม หวาน มัน เกินไปหรือเปล่า และช่วยให้คำแนะนำต่างๆ  ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เรารู้จักประวัติและความเป็นมาของชุมชน ความรู้ที่ได้รับศูนย์เรียนรู้ก็นำกลับเอาไปปฏิบัติโดยชักชวนคนที่บ้านให้มาร่วมทำด้วย”

นายอนุชา สามารถ หรือ “กีกี้” เล่าว่าเส้นทางปั่นจักรยานระยะทาง 4-5 กิโลเมตรนั้นจะผ่านทั้งทุ่งนา สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนผัก ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้าน

“โดยเฉพาะการได้ปั่นจักรยานไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับคุณตาสะอาด หมาดทิ้งซึ่งเป็น ผู้สูงอายุต้นแบบของชุมชนทำให้ได้เรียนรู้รากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน และความเป็นมาของชื่อควนโต๊ะเหลง ซึ่งมีเรื่องเล่าและตำนานว่าเกิดขึ้นจากการที่คนโบราณมองเห็นเสือเฒ่ายืนเหลงอยู่บนควน”

นางธิดา เหมือนพะวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการกล่าวเสริมว่ากิจกรรมไบไซเคิลทัวร์เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการรวมตัวของเด็กๆ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็น โดยมีทีมของ อสม. เป็นพี่เลี้ยงในรูปแบบของการเก็บข้อมูล การติดตามเยี่ยมเยียนดูแลผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้เด็กๆ จะได้รับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และสามารถนำแนวทางต่างๆ ที่ได้รับไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้

“ไบไซเคิลทัวร์ได้สร้างให้เกิดแกนนำคนรุ่นใหม่ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะการพัฒนาชุมชนนั้นจะต้องสร้างคนแต่ละรุ่นขึ้นมาเพื่อสืบสานให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นเหมือนตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ของชุมชนต่อไปในอนาคต”

“ไบไซเคิลทัวร์” ของเยาวชนบ้านควนโต๊ะเหลง จึงไม่ได้เป็นแค่การขี่จักรยานเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเข้าไปเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเอง ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง “จิตสาธารณะ” เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนชุมชนแห่งนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ