โครงการชุมชนน่าอยู่: บ้านหนองหนาม ม.3 จ.ลำพูน
โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านหนองหนาม หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
บ้านหนองหนาม หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ทางเหนือติดกับบ้านบ่อโจง ทิศตะวันออกคิดกับบ้านต้นปัน ทิศตะวันตกติดกับบ้านรั่ว-บ้านทุ่ง ทิศใต้ติดเขตพื้นที่ตำบลเหมืองจี้และห่างจากที่ว่าการอำเภอเมือลำพูน 14 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลลำพูน 10 กิโลเมตรโดยบ้านหนองหนามมีประชากร รวม 646 คน แยกเป็น ชาย 306 คน หญิง 340 คน จำนวนหลังคาเรือน 209 หลังคาเรือน โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,660 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 90 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 787 ไร่ พื้นที่ทำนา 635 ไร่ พื้นที่ทำสวน 108 ไร่ และพื้นทีอื่นๆ 80 ไร่การประกอบอาชีพจะทำการเกษตร ทำสวน ทำไร่ และรับจ้างทั่วไป รวมถึงการเย็บหมวกสานจากใบลาน และไม้ไผ่ สำหรับการติดต่อสื่อสารภายนอกหมู่บ้านและภายในหมู่บ้านจะมีถนนเชื่อต่อถนนเส้นท่าจักรแม่ทาและถนนเลียงเมืองดอยติ ภายในหมู่บ้านมีร้านค้าที่อำนวยความสะดวกในการซื้อขายบริโภคภายในหมู่บ้านและตลาดของชุมชน ลักษณะวิถีชีวิตของประชาชนจะมีการช่วยเหลืออาศัยพึ่งพาแบบเครือญาติ โดยที่มีวัดหนองหนามเป็นศูนย์กลางยึดเหยี่ยวจิตใจ รวมทั้งหมู่บ้านได้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี สืบต่อกันมาเช่น ประเพณีสรงน้ำกู่ครูบาสังฆะ ทุกวันที่ 19 เมษายน ของทุกปี การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน การสืบชะตาใจบ้านหรือเสาหลักบ้านของหมู่บ้านในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือน 5 เหนือ ของทุกปี โดยพื้นที่ลักษณะของชุมชน เป็นชุมชนกึ่งเมือง
กลไกสภาผู้นำชุมชน
การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน
ทุนเดิมของกลไกที่มีในชุมชน บ้านหนองหนามเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีโครงสร้างการปกครองที่แบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ เพื่อให้การปกครองและการพัฒนามีความชัดเจน คณะกรรมการมาจากการประชุมคัดเลือกคนในชุมชนจากกลุ่มต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่างๆ และทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยมีแผนการประชุมประจำเดือนๆ ละ 1 ครั้ง แต่บางเดือนหากมีเหตุที่ต้องแจ้งให้ประชาชนหรือมีเรื่องที่ต้องการความคิดเห็นหรือความร่วมมืออาจมีการประชุมที่มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งการประชุมประจำเดือนหรือประชุมหมู่บ้าน จะมีคณะกรรมการหมู่บ้านและตัวแทนหลังคาเรือนเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการประชุมที่หลังจากผู้ใหญ่บ้านหรือตัวแทนไปประชุมประจำเดือนที่อำเภอหรือประชุมเรื่องอื่นๆมา โดยในการประชุมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆได้ โดยในหมู่บ้านจะมีการจัดเวทีประชาคม ที่คนในหมู่บ้านร่วมกันในการระดมความคิดเห็น เมื่อมีเหตุที่ต้องการความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อระดมความคิดเห็นช่วยกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกปี มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนบ้านหนองหนาม เป็นศูนย์การดำเนินงานสุขภาพภาคประชาชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อดูแลสุขภาพเบื้องต้นของตนในหมู่บ้าน นอกจากนั้นในหมู่บ้านจะมีหอกระจายข่าว สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้รับข่าวสารของทางราชการ และเรื่องอื่นๆ อย่างทั่วถึง และภายในชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อการสืบทอดวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนดั้งเดิม โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน ได้แก่ สะล้อซอซึง การตีกลองปูจา การฟ้อนเล็บ รำวงย้อนยุค เป็นทุนเดิมของชุมชนที่มีอยู่แล้ว
องค์ประกอบของสภาผู้นำชุม สภาผู้นำชุมชนของหมู่บ้านหนองหนาม มาจากหลายฝ่าย ประกอบไปด้วยแกนนำและคณะกรรมการองค์กรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในโครงการชุมชนน่าอยู่ ประกอบด้วย ผู้นำที่เป็นทางการคือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน ตัวแทน อสม. สมาชิกสภาเทศบาล ตัวแทนผู้สูงอายุ ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนถึงจิตอาสาในชุมชนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม โดยการร่วมกันวางแผนพัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมีส่วนร่วม ให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นและจับต้องได้ ซึ่งสภาผู้นำชุมชนทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล หรือการติดตามประเมินผลเป็นต้น เมื่อเห็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในชุมชน หรือเกิดขึ้นแล้ว ต้องรีบดำเนินการโดยการนำปัญหาให้สภาชุมชนได้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันพิจารณา เสนอแนะวิธีการแก้ไขอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้ และให้คำแนะนำ แก่สมาชิกเกี่ยวกับการจัดการขยะภายในชุมชนซึ่งมีกันทั่วทุกบ้าน ให้มีปริมาณขยะลดลงตามเป้าหมายที่วางไว้ และลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว สภาผู้นำชุมชนเองจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกได้เห็น เพื่อให้สมาชิกภายในชุมชนได้เกิดความมั่นใจ และสามารถทำตามได้ โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะนำพาชุมชนสู่กลไกลการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือการแก้ไขพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ด้วยตนเองในทุกๆด้านที่เป็นปัญหาของชุมชน โดยนำกลไกสภาผู้นำชุมชนที่ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำทางการในหมู่บ้าน และแกนนำไม่เป็นทางการมารวมกันจัดตั้งเป็นสภาผู้นำชุมชน เพื่อให้เป็นคณะทำงานหลักในการไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง มีการกำหนดแผนการประชุมประจำเดือนทุกเดือนเฉลี่ย เดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงการมีบทบาทในการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และหาแนวทางแก้ปัญหา ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตลอดถึงสามารถคืนข้อมูลให้กับคนในชุมชน เพื่อสร้างแนวร่วมการดำเนินงาน และสื่อสารให้คนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อการดำเนินโครงการชุมชนน่าอยู่ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน
ความรู้ ทักษะที่สภาผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาจากหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ ประกอบด้วย การวางแผนงาน การจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัด การประชุม ARE ต้นไม้ปัญหา บันไดผลลัพธ์ การประเมินความเข้มแข็ง 9 มิติ การสะท้อนผลลัพธ์ตามวงรอบ ARE สภาผู้นำชุมชนมีการแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน มีการติดตามประเมินผลกลุ่มเป้าหมาย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทุกๆ 3 เดือน รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมของแกนนำชุมชน การออกแบบสำรวจข้อมูลการบริหารโครงการ และการใช้ข้อมูลชุมชนในการพัฒนาชุมชนโดยจากสภาพการดำเนินงาน
สำหรับความรู้ทักษะที่สภาผู้นำชุมชนควรต้องพัฒนาเพิ่มเติม โดยเป็นสิ่งที่ยังเป็นความต้องการให้สภาผู้นำชุมชนได้มีการเสริมสร้างทักษะเพิ่มเติม เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน ประกอบด้วย
- เทคนิคการสื่อสาร และการรับรู้ เนื่องจากทีมสภาผู้นำชุมชนน่าอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนจึงเน้นวิธีการที่จะสื่อสารอย่างไรให้เกิดความเข้าใจ สามารถสื่อสารง่าย เกิดความเข้าใจร่วมกัน
- การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการใช้ข้อมูล จะใช้การเก็บข้อมูลผ่านทางแบบฟอร์ม และมีการรวบรวมข้อมูลผ่านทางการใช้ Google Form ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการรวมข้อมูลรายหมู่บ้าน รวดเร็ว ประหยัดเวลา ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างครบถ้วน
การบริหารการจัดการชุมชน
บ้านหนองหนาม ได้มีการทบทวนการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองทุกๆ 1 ปี เป็นการประชาคมของชุมชนร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนอหนาม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหนาม เพื่อเป็นการวางแผนการทำงานด้านการจัดการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหนาม โดยจะเป็นประเด็นก็จะมาจากความต้องการของชุมชนว่าชุมชนยังขาดหรือต้องการแก้ไขปัญหาในตรงจุดไหน โดยก่อนกำหนดการประชาคมแผนชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้คนในชุมชนได้เสนอความต้องการ และความเดือดร้อนของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขต่อไปได้
กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของสภาผู้นำชุมชนเริ่มตั้งแต่ สภาผู้นำชุมชนคัดเลือกสมาชิกสภาผู้นำที่มาจากกลุ่มต่างๆในชุมชน ตัวแทนหมวดบ้าน วัด การจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน การเก็บข้อมูลโดยสมาชิกสภาผู้นำและอาสาสมัคร การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน การร่างแผนชุมชน การสื่อสารและแจ้งข่าวสารผ่านกลุ่มไลน์สภาผู้นำชุมชน สมาชิกสภาผู้นำเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรม เป็นตัวอย่างให้แก่คนในชุมชน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การประชาสัมพันธ์ สมาชิกสภาผู้นำติดตั้งอ่างล้างมือให้บริการในชุมชนบริเวณ ศาลาอเนกประสงค์ และร้านค้าในชุมชน การมีส่วนร่วมกับสมาชิกในชุมชน จะเกิดขึ้นตั้งแต่การให้ข้อมูล ร่วมพิจารณาคัดเลือกแผนชุมชน การทำกิจกรรมร่วมกันทั้งกิจกรรมในชุมชนและกิจกรรมในโครงการต่างๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน กลุ่มแม่บ้านและจิตอาสาร่วมกัน
ความสำเร็จและผลลัพธ์
ผลลัพธ์ความสำเร็จเชิงประเด็นที่กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานผ่านแผนชุมชนที่ปรากฏเด่นชัด ได้แก่ สภาผู้นำชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหนามมีการขับเคลื่อนการจัดการขยะ/แยกขยะในชุมชน เพื่อลดปัญหาขยะที่นำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยมีเทศบาลตำบลบ้านแป้นช่วยในการหนุนเสริม สภาผู้นำชุมชนมีการจัดการเก็บข้อมูลสถาการณ์ขยะ การจัดทำฐานข้อมูลขยะ ปริมาณขยะแต่ละประเภทในชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการจัดการปัญหาขยะที่นำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ครัวเรือนในชุมชน 170 ครัวเรือนจาก 212 ครัวเรือนเกิดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ครัวเรือน 170 ครัวเรือน มีการคัดแยกขยะ ครัวเรือน 170 ครัวเรือน มีการนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ เกิดครัวเรือนตัวอย่างจัดการขยะ คัดแยกขยะ 12 ครัวเรือน ปริมาณขยะในครัวเรือนหลังจากดำเนินโครงการ ณ เดือนกันยายน 2565 คงเหลือไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์เปรียบเทียบจากปริมาณขยะก่อนดำเนินโครงการ 8 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เกิดการเชื่อมโยงปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนกับแผนพัฒนาหมู่บ้านกับแผนพัฒนาสุขภาพของรพสต.ตำบลหนองหนามในการแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ และไม่มีผู้เจ็บป่วยด้วยโรคชิคุนกุนย่า/โรคทางเดินหายใจ/โรคผื่นคันจากการสัมผัสขยะอันตรายในปีที่มีการดำเนินโครงการ
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานในชุมชน
การวิเคราะห์ความเข้มแข็งการประเมินความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติ โดยบ้านหนองหนามได้มีการวิเคราะห์ความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบด้วย
- การมีส่วนร่วม อยู่ในระดับที่ 5 ชุมชนบ้านหนองหนามมีกลุ่ม องค์กรที่มีผู้นำในการบริหารจัดการได้เอง โดยดำเนินการตามแผนชุมชนที่ได้วางไว้
- ผู้นำ อยู่ในระดับ 5 โดยผู้นำสามารถขับเคลื่อนการ ดำเนินงานตามแผนได้สำเร็จ ตามแผนมากกว่าร้อยละ 80 ผู้นำองค์กรทุกกลุ่มขับเคลื่อน ตามแผนงานที่กำหนดร่วมกับ สภาผู้นำชุมชนได้สำเร็จ ผู้นำสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆทั้งในและนอกชุมชน ได้สำเร็จ
- โครงสร้างองค์กร อยู่ในระดับที่ 5 โครงสร้างสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองหนามมีองค์ประกอบครบทั้งผู้นำที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ และที่มาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ซึ่งการรวมตัวเกิดขึ้นจากผู้นำที่ไม่เป็นทางการโดยมีความหลากหลายกลุ่มองค์กรในชุมชน ซึ่งมีคณะกรรมการคล้ายกับสภาผู้นำชุมชนในการขับเคลื่อน
- การประเมินปัญหา อยู่ในระดับที่ 5 ชุมชนมีการออกแบบเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้เอง รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนชุมชนและขับเคลื่อนชุมชนด้วยแผนชุมชนได้ร้อยละ 80
- การระดมทรัพยากรอยู่ในระดับที่ 5 โดยสามารถใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับองค์กร/ชุมชนอื่นๆ ภายในชุมชน
- การเชื่อมโยงภายนอกอยู่ในระดับที่ 5 การเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอกและหน่วยงานต่างๆ ในต.หนองหนาม และอ.เมืองลำพูน
- การถามว่าทำไมอยู่ในระดับที่ 4 การมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ภายใต้ข้อมูลอย่างรอบด้านกลุ่มต่างๆในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก การซักถาม ซักซ้อมความเข้าใจจึงต้องมีมากเป็นพิเศษ แต่ส่วนมากจะเป็นการเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ และเป็นคำถามที่ต่อยอดจากแนวคิดของผู้นำเป็นหลัก ดังนั้นการวางแผนการทำงานสภาผู้นำชุมชนต้องทำงานอย่างรอบคอบ การวิเคราะห์สถานการณ์ต้องรอบด้าน และการสื่อสารที่ชัดเจน แผนงานที่ชัดเจน
- ความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยงอยู่ในระดับที่ 4 ชุมชนสามารถเชื่อมโยงการทำงานทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้ และชุมชนสามารถจัดเวทีเรียนรู้ในชุมชนได้เอง การปรับแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ชุมชน ซึ่งปกติชุมชนสามารถปรับแผนงานได้เอง แต่ยังต้องปรึกษาพี่เลี้ยงเกี่ยวกับแนวทางที่ตัดสินใจนั้นสามารถดำเนินการได้หรือไม่
- การบริหารจัดการอยู่ในระดับที่ 5 สภาผู้นำชุมชนสามารถบริหารจัดการกิจกรรมได้วยตนเองได้ร้อยละ 90 สภาผู้นำชุมชน มีการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล คืนข้อมูลได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดเวที ARE.ได้เอง ซึ่งการจัดเวที ARE จำเป็นต้องใช้ทักษะในการสื่อสาร และประสบการในการชวนพูด ชวนคุย ชวนคิด
จุดอ่อนที่ชุมชนต้องพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยมีคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนเป็นแกนนำในการทำงานและเป็นตัวขับเคลื่อนให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รายละเอียดดังนี้
- คนในชุมชนไม่กล้าแสดงออก จึงทำให้การประชุมหมู่บ้านขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตัดสินใจร่วม การพัฒนากลไกเพื่อให้คนในชุมชนมีการแสดงความคิดเห็นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
- ประชุม/ประชาคม ชาวบ้าน เพื่อนำเสนอข่าวจากราชการ เรื่องราวจากคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชน จากองค์กร หน่วยงาน ให้ชุมชนได้รับทราบและเข้าใจมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- สร้างความตระหนัก ให้คนในชุมชน เข้าใจในการปฏิบัติตน ต่อตนเอง/ครอบครัว/ต่อสังคม และประเทศชาติ
- ส่งเสริมให้มีการยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้