LOVE and SEX เกมส์รัก สกัดท้องไม่พร้อมเทศบาลบ้านนา

LOVE and  SEX เกมส์รัก  สกัดท้องไม่พร้อมเทศบาลบ้านนา

ถึงจะประกาศป่าวๆ ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคม 4.0  ที่เต็มไปด้วยเหตุผล เทคโนโลยีและ นวัตกรรม แต่ ในเรื่องของเพศศึกษา ต้องบอกว่าเราพึ่งก้าวเข้าสู่ยุค 2.0  เพราะทุกครั้งที่บอกเล่าเรื่องราวเล่านี้ ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังจะเขินอายจนกลายเป็นเรื่องปกปิดไม่กล้าเรียนรู้ร่วมกัน

ขณะที่อัตราการหย่าร้างในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และ ตัวเลขวัยรุ่นท้องไม่พร้อมก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ  กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถิติปี 2560 จากการรับปรึกษาทางสายด่วน 1663 จำนวน กว่า 4 หมื่นรายมีปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ประมาณ 18,507 ราย  เพิ่มขึ้นจากปี 2559 สถิติอยู่ที่ 13,465 ราย

สาเหตุของผู้ตั้งท้องที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  มาจากไม่คุมกำเนิด ซึ่งไม่ใช่เพราะความไม่รู้ แต่มาจาก ความไม่เกล้าพูดคุยและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาเพศศึกษา

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องเพศศึกษายังคงมีกำแพงที่หนาแน่นในสังคมไทย แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหาและสร้างความเข้าในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ภาพใหญ่ของสังคมไทยความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษายังเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องลงไปมองในระดับชุมชน หมู่บ้านที่เรื่องราวเหล่านี้ห่างเหินจากความเข้าใจที่ถูกต้องและความเขินอายในการแลกเปลี่ยนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน

ในช่วงสายๆห่างจากวันแห่งความรักของเดือนกุมภาพันธ์มาประมาณ เกือบ สัปดาห์ มีคนกลุ่มเล็กๆจากชุมชนทั่วประเทศภายใต้โครงการร้อยชุมชนสร้างสุขภาวะทางเพศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น  มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ผ่านเกมส์ LOVE and  SEX

เสียงหัวเราะดังขึ้นทุกครั้งเมื่อตัวแทนชุมชนเปิดเกมส์บันไดงูตกไปยังคำถามที่เกี่ยวข้องกับสรีระทั้งหญิงและชาย แต่หลังความสนุกสนานมักจะตามมาด้วยข้อถกเถียงและคำอธิบายเช่น ขนาดของน้องชายต้องใหญ่จริงหรือไม่ หรือ คำถามที่ว่า ดูหนังโป๊ผิดหรือไม่

ทรงวุฒิ อัศวพฤกษชาติ ตัวแทนเทศบาลบ้านนา จังหวัดนครนายก ผู้ที่สร้างนวัตกรรมเกมส์ Love and Sex  บอกว่า เกมส์เป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการพูดคุยและเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา เพราะเวลาเล่นเกมส์ทุกคนจะสนุกสนานและกล้าที่จะแลกเปลี่ยนและเล่าสู่กันฟังมากกว่า การชวนคุยแบบปกติ

เทศบาลบ้านนา เป็นชุมชนที่ติดอันดับหนึ่งของวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมของจังหวัดนครนายก และเป็นอันดับ3ของประเทศ โดยวัยรุ่น 10 คนจะมีวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมจำนวน 3 คน  ส่วนปีนี้มีจำนวนวัยรุ่นกว่า 18 คน โดยมีผู้ที่อายุน้อยที่สุดเพียง 12 ขวบที่ท้องไม่พร้อม

ทรงวุฒิ บอกว่าเดิมเขาทำงานเป็นนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลเทศบาลตำบลบ้านนา แต่เมื่อพบเห็นปัญหาของวัยรุ่นที่มีอัตราการท้องไม่พร้อมภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้นโดยสาเหตุหลักคือความเข้าใจผิด หรือปัญหาทัศนคติเกี่ยวกับเพศศึกษาของวัยรุ่น

“ผมเห็นปัญหาจึงเขียนโครงการเสนอเทศบาลตำบลบ้านนา เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้นในชุมชน”

คณะทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศของชุมชนเทศบาลบ้านนา จึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 5ถึง6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนที่สำคัญทั้งหมดในชุมชนทั้งตัวแทนจากโรงพยาบาล ตัวแทนครู   นักจิตชุมชน และตัวแทนชุมชน

การทำงานมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาที่กว้างไกลกว่าเรื่องของเพศสัมพันธ์ เพื่อเปิดทัศนคติมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศให้หลากหลายมากขึ้น

ในเบื้องต้นคณะทำงานจึงเริ่มจากความเข้าใจของตัวแทนที่เข้าร่วมคณะทำงานถึงความหมายของเพศศึกษา เพื่อปรับทัศนคติและมุมมองก่อน หลังจากนั้นคณะทำงานจะเริ่มลงไปทำงานกับกลุ่มเป้าหมายคือ วัยรุ่น

ทรงวุฒิและคณะทำงานของเทศบาลบ้านนา ใช้เกมส์  Love and Sex   เป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจร่วมกันกับกลุ่มวัยรุ่น

“การพูดคุยเพื่อเปิดใจถึงปัญหากับวัยรุ่นต้องมีรูปแบบที่ทำให้เกิดความสนุกสนานทำให้กล้าเล่า จึงใช้เกมส์เป็นตัวสื่อ”

เกมส์  Love and Sex   มีรูปแบบการเล่นไม่แตกต่างจากเกมส์บันไดงู ที่มีแผ่นป้ายคำถามในทุกจุดที่ผู้เล่นเดินไปถึง โดยป้ายคำถามและคำตอบมาจากการออกแบบของวัยรุ่นที่เข้าร่วมกลุ่มในเทศบาลบ้านนา ที่เห็นว่ามีคำถามอะไรบ้างที่พวกเขาต้องการคำตอบ

“คำถามก็จะมีตั้งแต่ ขนาดของอวัยวะ การดูหนังโป๊  ปัญหาเรื่องของอสุจิ การใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง หรือคำถามอื่นๆปกติหากไม่ใช่เวลาของการเล่นเกมส์ก็จะไม่มีใครกล้าถามพอผ่านเกมส์ทำให้เกิดการคุยกันมากขึ้น”

เกมส์ ไม่ได้ช่วยให้การพูดคุยเรื่องเพศศึกษาดีขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นเทศบาลบ้านนาเท่านั้นหากผู้ปกครองหลายครอบครัวยังนำเกมส์นี้ไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และนำไปสู่การพูดคุยในเรื่องเหล่านี้กับลูกๆด้วยเช่นกัน

เกมส์จึงเป็นนวัตกรรมเครื่องมือที่เกิดขึ้นหลังจากเทศบาลบ้านนามีคณะทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศภายในชุมชน และเข้าไปสำรวจปัญหาและทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 12-15 ปีจนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า  130 คน

การทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นเทศบาลบ้านนากับ คณะทำงานในช่วงแรกคือ การปรับทัศนะคติ  มุมมองในเรื่องเพศให้ตรงกันก่อน ทั้งในเรื่องความหมายในเรื่องความรัก  เพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง เพศที่สาม หรือ ปัญหาสรีระ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

“การพูดคุยกันผ่านกิจกรรมหลายอย่างในครั้งแรก ไม่ค่อยกล้า ไม่ค่อยเปิดเผย หรือตั้งคำถามมากนัก แต่เราพยายามสร้างเครื่องมือด้วยการเล่นเกมส์หรือการดูหนังด้วยกันก่อนที่จะเริ่มต้นพูดคุยกัน ทำให้ตอนนี้การพูดคุยในเรื่องเริ่มเป็นเรื่องปกติ เด็กๆกล้า หรือปรึกษาในเรื่องที่เขามีปัญหามากขึ้น”

ทรงวุฒิ ประเมินว่า การทำงานในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยเครื่องมือต่างๆ และคณะทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำให้มุมมองทัศนะคติในเรื่องเพศเปิดกว้างมากขึ้น มีความกล้าในการพูดคุยในชุมชนต่อปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน

“ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงจากครั้งแรกที่ปรับมุมมองร่วมกันเพราะครูในโรงเรียนที่เข้ามาเป็นกรรมการกล้าคุยมากขึ้นและนักเรียนก็กล้าที่จะปรึกษาปัญหาเรื่องเพศกับครูมากขึ้นด้วย รวมไปถึงผู้ปกครองก็มีมุมมองที่เปิดกว้างรับฟังมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จในก้าวแรกของชุมชนเทศบาลบ้านนา ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานร่วมกันของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่เห็นว่าการทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องสำคัญจนเกิดการเตรียมชุมชนและพัฒนางานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องใน หนึ่งร้อยชุมชนทั่วประเทศ

พอเริ่มจุดติดเรื่องสุขภาวะทางเพศในชุมชน ทรงวุฒิบอกว่า เขาก็อยากทำต่อไปเรื่อยๆ โดยเสนอให้เป็นหนึ่งในนโยบายของเทศบาลตำบลบ้านนา จังหวัดนครนายกเพื่อให้ร่วมกันสานต่อจนแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในชุมชนได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ