
เยาวชนนาโต๊ะขุน คนรุ่นใหม่ใส่ใจจัดการขยะ (ต่อเนื่องปี 2) (ชุดโครงการชุมชนน่าอยู่)
สรุปสาระสำคัญ
โครงการฯ นี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องปีที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะในชุมชนโดยการหนุนเสริมกลไกสภาชุมชนเดิมที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 ให้ดำเนินงานต่อเนื่องและเน้นให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยการจัดทำข้อมูลขยะและสร้างมาตรการเกี่ยวกับการจัดการขยะให้เข้าไปอยู่ในแผนชุมชน การดำเนินงานปีแรก (พ.ศ. 2556-2557) พบว่า เกิดสภาผู้นำชุมชนจำนวน 40 คนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันคือบริหารจัดการ “ธนาคารขยะ” ที่ต่อยอดมาจาก “กองทุนขยะ” จากเดิมที่กลุ่ม อสม.ตั้งต้นไว้ สร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนคัดแยกขยะเพื่อนำมาขายโดยมีมูลค่าการรับซื้อขยะ 3 เดือนแรกสูงถึง 6,000-10,000 บาท การดำเนินงานต่อเนื่องปีสอง (พ.ศ. 2558-2559) สภาผู้นำฯ ได้ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมเรียนรู้การจัดการขยะเพื่อดึงความสนใจออกจากยาเสพติด โดยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาฯ ประชุม/อบรม เก็บข้อมูล ตั้งจุดรับซื้อขยะในโรงเรียนตาดีกา (“ธนาคารขยะสาขาย่อย”) และให้บรรยายายธรรมเรื่องขยะ ทั้งหมดนี้ทำคู่ขนานไปกับการจัดการขยะในชุมชนที่ขับเคลื่อนโดยสภาผู้นำฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากปีแรก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มีจำนวนสภาผู้นำชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 40 คนเป็น 60 คน (เดิม 40 เพิ่มเยาวชนอีก 20) บริหารจัดการธนาคารขยะต่อเนื่องทำให้คนในชุมชนยังคงร่วมมือเอาขยะไปขายอยู่เรื่อยๆ เกิดข้อตกลงร่วมกันในการจัดการดูแลปัญหาขยะในชุมชน มีการติดตามการใช้มาตรการแต่ก็ยังไม่มีผลบังคับได้100 เปอร์เซ็นต์ และมีข้อมูลพื้นฐานเรื่องขยะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ นอกจากนี้สภาฯ ยังขับเคลื่อนงานพัฒนาอื่นๆ ในชุมชนด้วย แต่ในเชิงคุณภาพมีแกนหลักทำงานจริงเป็นสภาฯ ชุดเดิมประมาณ 20 คนที่เกาะกลุ่มกันได้เหนียวแน่นและกระตือรือร้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโต๊ะอิหม่ามคนใหม่เข้ามา มีบทบาทเป็นผู้นำทีมสภาฯ ที่มีความชัดเจนในการพัฒนาชุมชน เกิดการขยายผลไปสู่การการพัฒนาชุมชนอีกหลายเรื่องหลังสิ้นสุดโครงการฯ ส่วนสมาชิกสภาฯ ที่เป็นเยาวชนมี 3-4 คนแต่ไม่ค่อยมีบทบาท เด็กและเยาวชนได้ร่วมคิดร่วมทำน้อย ควบคุมกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเด็กประถมฯ ในโรงเรียนตาดีกาเท่านั้น กิจกรรมที่ทำกับเยาวชนจึงไม่มีผลต่อเนื่อง
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
- ความต่อเนื่องในการทำงาน มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานสูง ซึ่งในโครงการฯ นี้ แสดงถึงความต่างของความต่อเนื่อง 2 เรื่องให้เห็น และมีผลต่อความสำเร็จต่างกันไป กล่าวคือ
- ความต่อเนื่องของประเด็นงาน คือ การจัดการขยะ ที่สามารถใช้ทุนเดิมคือ ธนาคารขยะ และกลุ่ม อสม. ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแกนในการขับเคลื่อนได้ดี เพราะคนทำงานก็มีความเชี่ยวชาญ และธนาคารขยะ ก็มีการดำเนินกิจกรรม ที่คนในชุมชนรู้ดีอยู่แล้ว ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากคนในชุมชนอยู่ จึงได้รับความร่วมมือ
- ความไม่ต่อเนื่องของคนทำงาน คือ สภาผู้นำชุมชน ที่มีการเปลี่ยนตัวคนทำงาน โดยเฉพาะผู้นำสภา ที่เป็นทั้งผู้นำชุมชนและผู้นำทางจิตวิญญาณ ทำให้ต้องมีการจัดระบบการทำงาน ทำความเข้าใจระหว่างคนทำงาน มีคนทำงานใหม่ๆ เข้ามาร่วม จึงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่เพราะได้ผู้นำใหม่ ที่เข้มแข็ง มีทั้งแนวคิดและความมุ่งมั่นที่จะทำงาน ที่ทุกคนเห็นและรับรู้ได้ ทั้งในกลุ่มคณะทำงาน และชุมชน ทำให้งานเคลื่อนต่อได้ดี
ซึ่งถ้าคณะทำงานนี้ ได้ทำงานร่วมกันต่อเนื่อง ภายใต้ผู้นำคนปัจจุบัน น่าจะทำให้งานในพื้นที่ขับเคลื่อนได้มาก และคณะทำงาน จะมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น ด้วยความเข้าใจในแนวคิด วิธีการ และการมีระบบการทำงานที่ลงตัวมากขึ้นในสภาฯ
- โครงการมีกลุ่มเป้าหมาย และเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชน และเพิ่มบทบาทในการพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติเยาวชน มีบทบาทน้อยในการร่วมคิด วางแผน และทำงานด้วยวิธีคิดและนวทางของเยาวชนเอง ทำให้การศักยภาพและบทบาทของเยาวชน ไม่เติบโตมาก
โครงการ ที่มุ่งหวังในเป้าหมายลักษณะนี้ ต้องมีความกล้าที่จะลองผิดลองถูก และเรียนรู้ไปกับการเติบโตของเยาวชน ด้วยการให้บทบาทในการคิด ลงมือ และรับผิดชอบ พร้อมวางบทบาทตนเองเป็นเพียงที่ปรึกษาผู้สนับสนุน ให้มากกว่านี้