บทเรียนโครงการชุมชนน่าอยู่: โมเดล รพ.สต.ตำบลหนองหนาม พื้นที่บ้านรั้ว-ทุ่ง ม.8 จ.ลำพูน
บทเรียนการดำเนินงานของกลไกการดำเนินงานโครงการชุมชนน่าอยู่
โมเดล รพ.สต.ตำบลหนองหนาม
พื้นที่โครงการ ชุมชนน่าอยู่บ้านรั้ว-ทุ่ง หมู่ที่ 8 ต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
โดย นายกฤษฎา คำมะยอม
ทีมสนับสนุนวิชาการ หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ
1.บริบทของพื้นที่
บ้านรั้ว-ทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรรวม 375 คน แยกเป็นชาย 182 คน หญิง 199 คน จำนวนหลังคาเรือน 178 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มีเย็บหมวก ทำพัดใบตาล ทำนา ทำไร่ ทำสวน รวมถึงการเลี้ยงวัว,ควาย ไก่ มีกลุ่มคนทำพัดใบตาลโบราณอยู่เพียงแค่ 2 คน ชื่อกลุ่ม “ฮักใบตาลโบราณบ้านรั้ว-ทุ่ง” การทำใบตาลนี้เริ่มทำตั้งแต่ ปี 2515 ปัจจุบันมีการขยายการผลิต โดยชาวบ้านในชุมชนได้มีอาชีพเสริม
ด้านเศรษฐกิจ พบว่า มีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน 3,000 บาท/คน/เดือน รายได้โดยรวมทั้งชุมชน 534,000 บาท/ปี ต้นทุนการประกอบอาชีพเฉลี่ยครัวเรือนละ 36,000 บาทต่อปี มีรายจ่ายในครัวเรือนต่อปี 20,000 บาท รายจ่ายทั้งชุมชนต่อปี 44,500 บาท มีกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน จำนวน 15 คน กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 50 คน กลุ่มอสม. จำนวน 11 คน
ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า มีปริมาณขยะในชุมชน 1,300 กก./สัปดาห์ แยกเป็น ขยะแห้ง 400 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 31) ขยะเปียก 500 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 38) ขยะติดเชื้อหรือขยะอันตราย 160 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 12) และขยะอื่นๆ 240 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 19) ซึ่งครัวเรือนในชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ เช่น ถุงพลาสติก เป็นต้น และขยะอินทรีย์จำพวกเศษกิ่งไม้ ใบไม้ กำจัดโดยการเผา ทำให้เกิดมลพิษหมอกควัน ส่วนขยะเปียกจัดการไม่ถูกสุขลักษณะส่งกลิ่นเหม็น วัสดุรีไซเคิลบางส่วน ครัวเรือนแยกจัดเก็บเพื่อนำไปขายเองตามความสะดวก
ด้านสุขภาพ พบว่า ครัวเรือนบ้านรั้ว-ทุ่ง ยังขาดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงการจัดการขยะ ประชาชนยังมองเรื่องขยะในชุมชนเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่จัดการ ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะทีถูกวิธี ส่งผลต่อการเกิดปัจจัยการเกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคติดต่อนำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
ปัญหาก่อนดำเนินโครงการ จากการทบทวนสภาพปัญหาของชุมชน จัดลำดับความรุนแรงของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชน โครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการ แหล่งทุนที่คาดว่าจะได้รับ และทบทวนปัญหาที่มีความต้องการที่จะแก้ไขเร่งด่วนด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข (ด้านสุขภาพ) ภายใต้เงื่อนไขแผนพัฒนาหมู่บ้านหรือแผนชุมชน (ทำเอง ทำร่วม ทำขอหรือทำให้) ภายใต้การขับเคลื่อนของแกนนำชุมชน ในรูปแบบทีมสภาผู้นำชุมชน งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 พบว่า
อันดับ 1 คือ ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ได้รับการประสานหน่วยงานรับผิดชอบ/แหล่งทุน ประเภททำขอ จากเทศบาลตำบลบ้านแป้น และรพ.สต.ตำบลหนองหนาม
อันดับ 2 คือ ปัญหาโรคติดต่อนำโดยยุงลาย (ไข้เลือดออก/ ชิคุนกุนยา) ได้รับการประสานหน่วยงานรับผิดชอบ/แหล่งทุน ประเภททำร่วม จากเทศบาลตำบลบ้านแป้น และรพ.สต.ตำบลหนองหนาม
อันดับ 3 คือ ปัญหาการส่งเสริมสุขภาพจิตในประชาชน ได้รับการประสานหน่วยงานรับผิดชอบ/แหล่งทุน ประเภททำขอ จาก เทศบาลตำบลบ้านแป้น และ รพ.สต.ตำบลหนองหนาม
อันดับ 4 คือ ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง)ได้รับการประสานหน่วยงานรับผิดชอบ/แหล่งทุน ประเภททำขอ จาก เทศบาลตำบลบ้านแป้น และ รพ.สต.ตำบลหนองหนาม
อันดับ 5 คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะในครัวเรือน ได้รับการประสานหน่วยงานรับผิดชอบ/แหล่งทุน ประเภททำร่วม จากเทศบาลตำบลบ้านแป้น
ทางทีมสภาผู้นำชุมชนและตัวแทนครัวเรือน จึงลงมติในที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ คัดเลือกประเด็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะในครัวเรือน โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ซึ่งมีสถานการณ์ปัญหา ดังนี้
ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน ได้แก่ ถุงพลาสติก ถุงน้ำยาซักผ้า ถุงผงซักผ้า และขยะต่างๆ จากการเก็บข้อมูลในปี 2564 (ข้อมูลจาก กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบ้านแป้น) พบว่า มีปริมาณขยะในครัวเรือน 1,300 กิโลกรัม/สัปดาห์ แยกเป็น ขยะแห้ง 400 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 31) ขยะเปียก 500 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 38) ขยะติดเชื้อหรือขยะอันตราย 160 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 12) และขยะอื่นๆ 240 กิโลกรัม (คิดเป็นร้อยละ 19) ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดแยกไม่ถูกวิธี หรือมีขยะมากจนไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บหรือเก็บขนหรือกำจัดให้หมดในวันเดียว ขยะจึงตกค้างในชุมชน ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น
จากสถานการณ์ปัญหาขยะในปี 2564 ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าในปี 2561 มีผู้ป่วยด้วยการเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวน 3 ราย และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ จำนวน 5 ราย ส่วนในปี 2562 และ 2563 ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก แต่ก็มีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากประชาชนขาดการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะบริเวณที่สาธารณะ ทำให้เวลาฝนตกลงมาเกิดน้ำขัง เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ส่วนโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ มีประชาชนบางกลุ่มเผาขยะพลาสติก กล่องโฟม ยาง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการเผาขยะในที่โล่ง เกิดหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
ทุนศักยภาพของชุมชน บ้านรั้ว-ทุ่ง หมู่ 8 ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีทุนเดิมเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติพี่น้อง มีกรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ความรู้ วัฒนธรรม ภาคีเครือข่าย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กองทุนชุมชน แกนนำ ฐานข้อมูลชุมชนต่างๆที่สำคัญ เช่น ทุนทางสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูล ขนบธรรมเนียมประเพณีภูมิปัญญาที่ดี ได้แก่ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ประเพณีเลี้ยงผีพ่อบ้าน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ประเพณีตานก๋วยสลาก ประเพณีแห่ไม้ค้ำสลี มีวัดบ้านรั้ว-ทุ่ง สามารถจัดสรรพื้นที่ด้านหน้าวัดให้เป็นลานจอดรถเมื่อมีงานบุญประเพณี งานเทศกาลต่างๆ ทั้งวัดและชุมชน ทำให้เกิดการสำนึกรักษ์และตอบแทนคุณบ้านเกิด มีอาคารเอนกประสงค์ของหมู่บ้านเพื่อใช้จัดเวทีประชุม จัดกิจกรรมสำคัญของหมู่บ้าน มีกลุ่มออมเงิน ทุนทางความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย มีจิตอาสา มีการจัดตั้งแกนนำชุมชนในการดูแลและป้องกันและรักษาทรัพย์สินของประชาชน การอยู่เวรยามในการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล การปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019, โรคไข้เลือดออก เป็นต้น ทุนทางการบริหารจัดการ มีเทศบาลตำบลบ้านแป้น ได้รับรางวัลใบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), รางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2562 ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และองค์กรที่ดำเนินการดีเด่นด้านป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากกระทรวงสาธารณสุข มีเครื่องมือในการจัดเก็บบันทึกข้อมูล และสนับสนุนการบริหารจัดการด้านต่างๆของหมู่บ้านเป็นอย่างดี และจากประสบการณ์ในการทำกิจกรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนร่วมกับหน่วยงานต่างๆในตำบล อาทิ เทศบาลตำบลบ้านแป้น โรงเรียนบ้านแป้นพิทยาคม โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านแป้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลหนองหนาม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลบ้านแป้น เป็นต้น ทำให้ผู้นำชุมชนและแกนนำกลุ่มต่างๆ เกิดเรียนรู้ร่วมกัน สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เช่น การทบทวนแผนชุมชนพึ่งตนเอง การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และการใช้เวทีประชุมร่วมกับภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในแต่ละประเด็น เพื่อเสริมพลัง ชื่นชมผลงานที่บรรลุวัตถุประสงค์ ร่วมปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การประเมินผลสำเร็จในข้อมูลเชิงประจักษ์
สาเหตุของสภาพปัญหา
ปัญหาขยะ เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และระบบภายนอกที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดจากการวิเคราะห์ผังต้นไม้ปัญหา ดังนี้
1.ด้านพฤติกรรม พบว่า ผู้นำชุมชนและสมาชิกครัวเรือนในชุมชน ขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะและขาดความร่วมมือในการคัดแยกขยะ มีการกำจัดขยะที่ผิดวิธี เช่น นำขยะพลาสติก ยาง ไปเผาหรือฝัง ไม่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะซึ่งสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ได้ มีครัวเรือนที่ไม่มีการคัดแยกขยะ คิดเป็นร้อยละ 80
2.ด้านสภาพแวดล้อม มีครัวเรือนที่มีขยะตกค้าง ไม่ได้นำไปกำจัดหรือรอการกำจัด และขาดแกนนำชุมชนที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาการคัดแยกขยะให้กับประชาชนได้ มีร้านค้าในชุมชนที่ก่อให้เกิดถุงพลาสติกและขวดแก้วพลาสติก จำนวน 6 ร้าน มีการเผาขยะในที่โล่ง เกิดกลิ่นเหม็นและเป็นมลพิษทางอากาศ
3.ด้านระบบภายนอกที่เกี่ยวข้อง พบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการกำจัดขยะเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐ เป็นผู้จัดการ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง บังคับไม่ได้อย่างจริงจัง
2.การก่อตัวของกลไกพี่เลี้ยง รพ.สต./อปท.
1) จำนวนพี่เลี้ยงใน รพ.สต. การจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง ชุมชนบ้านรั้ว-ทุ่ง ขับเคลื่อนโครงการภายใต้ประเด็นการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยมีพี่เลี้ยงทั้งหมด จำนวน 5 คน ร่วมเป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนโครงการ แบ่งออกเป็น 1) แกนนำสภาผู้นำชุมชนเดิม หรือ Super Coach จากบ้านแป้น หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแป้น คือนางสาวสมพร คำวัง และคณะ 2) พี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลหนองหนาม คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลหนองหนาม นางสาวอรศิริ ศิริสุทธา (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) และมีพี่เลี้ยง รพ.สต.ตำบลหนองหนาม คือ นางสุภาพ ลินแสนกาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านป่าซางน้อย ตำบลบ้านแป้น นางรำพรรณ์ นาคจู (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) และ นางอนงค์ ตาเจริญเมือง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คอยหนุนเสริมการทำงานต่อเนื่อง จำนวน 4 คน และมีพี่เลี้ยงจากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบ้านแป้น จำนวน 1 คน คือ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นายรังสรรค์ ขว้างแป้น (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) รวมจำนวน 5 คน
การจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง และการบริหารจัดการภายในทีม ให้เกิดความคล่องตัว เกิดรูปธรรมในการหนุนเสริมสภาผู้นำชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง รพ.สต.ในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงหลัก ในการหนุนเสริมการทำงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งบ้านรั้ว-ทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองหนาม มีพี่เลี้ยงโมเดล รพ.สต.หลัก คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลหนองหนาม นางสาวอรศิริ ศิริสุทธา (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) คอยรับผิดชอบดูแลเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาหลัก และเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในพื้นที่ ทำให้การประสานงาน การลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชุมชน หนุนเสริมการทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งสภาผู้นำชุมชนสามารถเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินงานต่างๆ ในชุมชนกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีความจำเป็นให้พี่เลี้ยงช่วยให้ข้อเสนอแนะบางประเด็นเท่านั้น
2) สมรรถนะพี่เลี้ยงใน รพ.สต. พบว่า อยู่ในขั้นที่ 3 พี่เลี้ยง รพ.สต. สามารถขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต. ชุมชน และภาคีได้ โดยพี่เลี้ยงหลักคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหนาม สามารถหนุนเสริมให้ทีมสภาผู้นำชุมชนบ้านรั้ว-ทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองหนาม ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านแป้น และร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) ตำบลบ้านแป้นได้ สามารถหนุนเสริมชุมชนในการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และ รพ.สต.ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเองของหมู่บ้านได้ ครอบคลุมทุกด้าน ทุกประเด็น (ทำเอง ทำร่วม ทำขอ)
พบว่า การสร้างทีมพี่เลี้ยงที่มีสมรรถนะได้นั้น จำเป็นต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน และมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล และที่สำคัญต้องมีใจเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และรับรู้อุปสรรค รับประโยชน์ที่ได้รับร่วมกันทั้งสองฝ่าย
3.กลไกพี่เลี้ยง รพ.สต.
1) การกำหนดภารกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน
โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลหนองหนาม และสภาผู้นำชุมชนบ้านรั้ว-ทุ่งร่วมกันกำหนดภารกิจการดำเนินการประเด็นหลักร่วมกัน คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพิ่มครัวเรือนและสมาชิกในการคัดแยกขยะ และลดปริมาณขยะในชุมชน จึงมีการกำหนดภารกิจหลักแก่ทีม พี่เลี้ยงในการหนุนเสริมชุมชน และร่วมพัฒนาชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับผลลัพธ์เชิงประเด็นของชุมชนและตัวชี้วัดของหน่วยงาน คือ การจัดการปัญหาขยะในชุมชน โดยปริมาณขยะในชุมชนที่เหลือจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์ลดลง ร้อยละ 50 จากเดิม 400 กิโลกรัมต่อวัน เหลือ 200 กิโลกรัมต่อวัน และลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิก้า โรคอุจจาระร่วง ลดลง ร้อยละ 20 จากค่ามัธยฐาน 5 ปี) ตาม MOU ว่าด้วยการดำเนินงานการจัดการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ด้วยกลไกสภาผู้นำชุมชน ภายใต้การดำเนินงานโครงการชุมชนน่าอยู่ (Model รพ.สต.) การประสานความร่วมมือกับ รพ.สต.ในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN HOSPITAL และการดำเนินงานชุมชนสิ่งแวดล้อมเข็มแข็ง ACTIVE COMMUNITY กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การกำหนดภารกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน ได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจตัวชี้วัดร่วม หรือเป้าหมายร่วมที่ทั้งสอง ฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ตอบโจทย์ในภาพรวมของเขตการดูแลรับผิดชอบของเทศบาลตำบล บ้านแป้น ซึ่งเทศบาลตำบลบ้านแป้น ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน ร่วมกับผู้นำชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 9 หมู่บ้านด้วย เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านป่าซางน้อย ตำบลบ้านแป้น และ รพ.สต.ตำบลหนองหนาม โรงเรียนทุกแห่งในตำบล โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลบ้านแป้น และวัด เป็นต้น
2) การสื่อสารภายในทีมและหัวหน้าหน่วยงาน
ประเด็นที่จำเป็นต้องสื่อสารต่อเนื่อง ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจการทำงานชุมชนน่าอยู่ (โมเดล รพ.สต.) เช่น เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา (ARE) และระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล การออกแบบและเก็บข้อมูลสถานะสุขภาพของ รพ.สต. และข้อมูลเชิงประเด็นของทีมสภาผู้นำชุมชน รวมถึงการประสานการทำงานระหว่าง รพ.สต. สภาผู้นำชุมชนและหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือและภาคีในพื้นที่เขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลบ้านแป้น
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การสื่อสารต่อเนื่อง เกิดประสิทธิผล นำไปสู่ความเข้าใจและทักษะได้นั้นจำเป็นต้อง มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่นๆ ในชุมชน และมีการสรุปบันทึกรายงานการประชุมทุกครั้ง และสมาชิกสภาผู้นำชุมชนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม มีช่องทางการสื่อสารที่พี่เลี้ยงเข้าถึงง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชน ได้แก่ การโทรศัพท์ การมีกลุ่ม Line ของ สสส.จังหวัดลำพูน และกลุ่ม Line พี่เลี้ยง สสส.จังหวัดลำพูนร่วมกับทีมหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ ดำเนินการให้สมาชิกทีมพี่เลี้ยงรับทราบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยกันวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของชุมชน นำไปสู่การหนุนเสริมและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ทันเวลา ไม่มีความเสี่ยงระหว่างดำเนินงาน เช่น การจัดกิจกรรมตามกำหนดการ การเบิกจ่ายเงิน เอกสารการเงิน เอกสารสรุปความก้าวหน้า และการทำงานภายในทีมของสภาผู้นำชุมชน เป็นต้น
3) สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่างๆในชุมชนได้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาพี่เลี้ยง
วิธีการสื่อสารกับหัวหน้าหน่วยงานกรณีที่หัวหน้าไม่ได้เป็นพี่เลี้ยง
1. รูปแบบการเรียนรู้ภายในทีม ใช้แนวทางการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและมีส่วนร่วม โดยจำเป็นต้องมีแผนในการหนุนเสริมการทำงานของทีมสภาผู้นำชุมชนด้วย จึงจะส่งผลต่อการเรียนรู้ภายในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การสร้างการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหา ได้ดำเนินการโดย พี่เลี้ยงต้องเข้าร่วมเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของกิจกรรมในชุมชน และในการประชุมหารือร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจเรื่องการดำเนินงาน และเสนอแนะ พิจารณาปัญหาใหม่ๆ รวมทั้งมีการร่วมติดตามประเมินผลได้ทุกคน โดยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้พี่เลี้ยงและสมาชิกชุมชนเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และสมาชิกสภาผู้นำชุมชนทุกคน สามารถแสดงความคิดเห็นมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมตัดสินใจ และสมาชิกชุมชนมีข้อเสนอแนะ หรือให้ทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาชุมชนมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของทีมพี่เลี้ยงและสภาผู้นำชุมชน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล หรือสามารถร่วมประเมินความสำเร็จของชุมชนได้ จึงจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของทีมงานและต่อกลไกสภาผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้านได้
4. การบริหารจัดการเป้าหมายร่วมของพื้นที่
1) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่าง รพ.สต.ตำบลหนองหนาม เทศบาลตำบลบ้านแป้น และสภาผู้นำชุมขน ได้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน คือ ปริมาณขยะในชุมชนที่เหลือจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์ ลดลงร้อยละ 42 จากเดิม 59,495 กิโลกรัมต่อปี เหลือ 25,066 กิโลกรัมต่อปี และลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ( โรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิกา โรคอุจจาระร่วง ลดลงร้อยละ 20 จากค่ามัธยฐาน 5 ปี) โดยการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้เกิดการยอมรับ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้จริง จำเป็นต้องใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน
2) การวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต.ตำบลหนองหนาม และสภาผู้นำชุมขนจากเป้าหมายร่วมที่กำหนดด้วยการรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะทั้งหมดในครัวเรือนต่อเดือน ครัวเรือนที่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งและมีการใช้ประโยชน์จากขยะที่ผ่านการคัดแยก จำนวนกิจกรรมการประชุม อบรม งานศพ งานบุญต่างๆ ของชุมชนที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะพลาสติกและกล่องโฟมบรรจุอาหาร ปริมาณขยะอันตรายและขยะติดเชื้อในชุมชน รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (House Index : HI) และค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะ (Container Index : CI) และอัตราป่วยด้วยโรคที่มีปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิก้า โรคอุจจาระร่วง ลดลงร้อยละ 20 จาก ค่ามัธยฐาน 5 ปี มาประมวลผล จัดเวทีประชาคมทำความเข้าใจโครงการร่วมกับสมาชิกชุมชน รวมถึงการคืนข้อมูลให้แก่สมาชิกชุมชน
ทั้งนี้ จะต้องร่วมกันวิเคราะห์จุดเสี่ยง ค้นหาปัจจัยที่ทำให้เกิดขยะ เพื่อทำแผนการปรับปรุงจุดเสี่ยงต่อ การทิ้งขยะ หรือแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคที่เกิดจากขยะ โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงลักษณะของขยะและการเกิดโรค และร่วมกันคัดเลือกและจัดลำดับจุดเสี่ยงที่ต้องการทำการปรับปรุงแก้ไข ก่อน-หลัง และกำหนดข้อตกลงร่วมกันของชุมชนในการแก้ไขปัญหาขยะที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง จึงจะเกิดการยอมรับ จัดแบ่งหน้าที่และ นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
3) การดำเนินงานและการจัดการทรัพยากรร่วมกันระหว่าง รพ.สต.บ้านป่าซางน้อย ตำบลบ้านแป้น รพ.สต.ตำบลหนองหนาม และสภาผู้นำชุมขน จากแผนการดำเนินร่วมที่กำหนด โดยที่ผ่านมาได้จัดการทรัพยากร คือ การแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ด้วยการเก็บ รวบรวมข้อมูลและบันทึกผลในชุดข้อมูลแหล่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูล หรือป้องกันการคลาดเคลื่อนของข้อมูลนั้นๆ โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้หรือต้องมีเงื่อนไข คือ การออกแบบการเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน หรือ ใช้แบบฟอร์มเดียวกัน
4) การติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่าง รพ.สต.บ้านป่าซางน้อย ตำบลบ้านแป้น รพ.สต.ตำบลหนองหนาม และสภาผู้นำชุมขนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดร่วมกัน ด้วยการร่วมประชุมประจำเดือนของสภาผู้นำชุมชน หรือของหมู่บ้านหรือของ รพ.สต. โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ 1) สรุปข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดในผลลัพธ์ประเด็นนั้นๆ 2) สะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงตามระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ 3) เปรียบผลลัพธ์ที่ได้ว่าบรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้หรือไม่ 4) แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดีๆที่เกิดขึ้น และร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือแนวทางปรับปรุงให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทุกครั้งจำเป็นต้องมีหรือต้องใช้ ข้อมูลจริงที่เก็บรวบรวมได้มาอ้างอิงและใช้จริงเป็นรูปธรรม จึงจะเกิดประโยชน์จากรูปแบบของการติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่าง รพ.สต. และสภาผู้นำชุมขน
5.ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชน
1) ผลลัพธ์สมรรถนะสำคัญและการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของพี่เลี้ยง
โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของพี่เลี้ยง คือ พี่เลี้ยง รพ.สต. มีทักษะในการหนุนเสริมการทำงานของสภาผู้นำชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและสามารถขับเคลื่อนงานระหว่าง รพ.สต. อปท.และภาคีในชุมชนได้ผ่านการถ่ายทอดแนวคิดชุมชนน่าอยู่และหนุนเสริมชุมชนให้เกิดกลไกสภาผู้นำชุมชน สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ร่วมออกแบบระบบการบริการด้านสุขภาพ และงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล หนุนเสริมทีมสภาผู้นำชุมชนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) เกิดการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN HOSPITAL และขับเคลื่อนชุมชนสิ่งแวดล้อมเข็มแข็ง ACTIVE COMMUNITY ร่วมกัน มีการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และ รพ.สต. ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเอง โดยต้องมีหรือต้องใช้ แนวคิดสาธารณสุขมูลฐานกับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (นโยบาย 3 หมอ) มาประยุกต์ร่วมด้วย จึงจะเกิดสมรรถนะได้ตามที่คาดหวัง ให้สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์ของโมเดล รพ.สต.
2) ผลลัพธ์สมรรถนะของกลไกสภาผู้นำชุมชน
โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของสภาผู้นำชุมชน คือ สภาผู้นำชุมชนมีสมรรถนะในการเสริมพลังชุมชนและขับเคลื่อนงานตามแผนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ โดยต้องมีหรือต้องใช้ เป้าหมายและข้อตกลงร่วมกัน ผ่านการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่นๆในชุมชน และมีรายงานการประชุมทุกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมได้ สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่างๆในชุมชนได้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาพี่เลี้ยง สภาผู้นำชุมชนสามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน และมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด สภาผู้นำชุมชนมีการบริหารจัดการงบประมาณโครงการ สสส. และโครงการอื่นของชุมชน ด้วยความโปร่งใส จัดทำบัญชีรับจ่ายและแจ้งข้อมูลให้สมาชิกในชุมชนทราบทุกเดือน สภาผู้นำชุมชนสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชนดำเนินการให้สมาชิกชุมชนรับทราบอย่างน้อยเดือนละครั้ง สมาชิกสภาผู้นำชุมชนร้อยละ 100 จำนวน 17 คน และพี่เลี้ยง รพ.สต.ได้รับการพัฒนาศักยภาพทักษะการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมและการทำงานของกลไกสภาผู้นำชุมชน จำนวน 2 ครั้ง หัวข้อ เครื่องมือของชุดโครงการชุมชนน่าอยู่ การขับเคลื่อนชุมชนสิ่งแวดล้อมเข้มแข็ง การขับเคลื่อนการจัดทำแผนสุขภาพระดับตำบล และการเชื่อมแผนงาน/โครงการของแผนชุมชนพึ่งตนเองกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต.และแผนพัฒนาตำบลบ้านแป้น ของเทศบาลตำบลบ้านแป้น มีแผนงาน/โครงการ ที่จะดำเนินงานในรอบปีต่อไป โดยเชื่อมโยงจากโครงการเดิม และเชื่อมต่อกับแผนงาน/โครงการของรพ.สต. เพื่อจัดการระบบบริการสุขภาพ จำนวน 5 ประเด็น คือ
1.ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
2.ปัญหาโรคติดต่อนำโดยยุงลาย (ไข้เลือดออก/ ชิคุนกุนยา)
3.ปัญหาการส่งเสริมสุขภาพจิตในประชาชน
4.ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง)
5.ปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะในครัวเรือน ที่สอดคล้องกับแผนสุขภาวะตำบลผ่านแผนชุมชนพึ่งตนเอง และมีแนวทางการเชื่อมแผนกับ รพ.สต.ตำบลหนองหนาม เทศบาลตำบลบ้านแป้น พบระดับความสุขของประชาชนในชุมชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากเดิม ถ้าตัวเลข 0 – 10 ร้อยละ 50 จากระดับเดิม โดยประชากร 150 คน พบระดับความสุขของประชาชนในชุมชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 8.66 จากระดับเดิม 7.0 คะแนน จึงจะเกิดสภาที่มีสมรรถนะได้ตามที่คาดหวัง ที่สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์และ ความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติได้
3) ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของประเด็นสุขภาพที่ดำเนินการร่วมกัน คือ ประเด็นการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลาง โดยครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 100 จำนวน 80 ครัวเรือน มีการคัดแยกขยะและใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ มีการนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ จำนวน 80 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 100 กิจกรรมการประชุม อบรม งานศพ งานบุญต่างๆ ของชุมชน ลดการใช้ขยะพลาสติกและกล่องโฟมบรรจุอาหาร จำนวน 14 งานจาก 18 งานต่อปี คิดเป็นร้อยละ 77.77 เกิดครัวเรือนตัวอย่างในการจัดการขยะ คัดแยกขยะ จำนวน 25 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 100 และไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามบันไดผลลัพธ์เชิงประเด็น
ผลการสำรวจครัวเรือน 80 ครัวเรือนพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน HI = 4.2 และค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะ CI= 5.2 ส่งผลให้ปริมาณขยะในชุมชนที่เหลือจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์ลดลง ร้อยละ 42 จากเดิม 59,495 กิโลกรัมต่อปี เหลือ 25,066 กิโลกรัมต่อปี และปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยจากโรคที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โรคไข้เลือดออก โรคไข้ซิก้า โรคอุจจาระร่วงลดลง ร้อยละ 20 จากค่ามัธยฐาน 5 ปี ตัวชี้วัดร่วม รพ.สต. โดยช่วงเดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 มีอัตราป่วยเท่ากับ 0 ไม่พบผู้ป่วย และสภาผู้นำชุมชน และรพ.สต.ตำบลหนองหนาม เกิดการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนชุมชนสิ่งแวดล้อมเข้มแข็งร่วมกัน ซึ่งมีการประเมินตนเองอยู่ในระดับ ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ผ่านการประเมินทั้ง 11 ข้อ โดยต้องมีหรือต้องใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน จึงจะเกิดผลลัพธ์ได้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของโครงการระดับชุมชน
หมายเหตุ: ภาพกิจกรรมการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชนบ้านรั้ว-ทุ่ง